กินปู ดูทะเล @ธนาคารปูสิงหนคร

หน้าแรก ย้อนกลับ กินปู ดูทะเล @ธนาคารปูสิงหนคร

เจ้าของผลงาน ณัฐธิดา ศรีผล และคณะ Articles Students


ภาพโดย Songkla Story

 

กินปู ดูทะเล @ธนาคารปูสิงหนคร

 

ณัฐธิดา ศรีผล และคณะ1

 

         วันนี้จะพานั่งรถข้ามแพขนานยนต์จากฝั่งเมืองสงขลาข้ามทะเลสาบสงขลา ไปยังฝั่งอำเภอสิงหนคร เพื่อไปเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขาหรือที่เรียกกันว่า “ธนาคารปู” ซึ่งมีบ่อเลี้ยงลูกปูและร้านอาหารวิวสวย ๆ ให้นั่งชมและชิมอาหารทะเลสด รสชาติอร่อย

 

 

วิธีการเดินทาง

      เราสามารถขับรถขึ้นบนแพขนานยนต์จากฝั่งอำเภอเมืองสงขลา เมื่อลงจากแพขนานยนต์ ขับตรงไปจะเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ขับเลียบถนนชายเขาไปในหมู่บ้านหัวเขาสัก 1 กิโลเมตร “ธนาคารปู” จะอยู่ทางซ้ายมือ สังเกตได้จากป้ายสีน้ำเงินและมีสัญลักษณ์ของ ปตท.

       ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปูมีปริมาณลดลงต่อเนื่องจากการถูกจับขายอย่างรวดเร็วเกินกว่าธรรมชาติ จะทดแทนทัน ขณะที่การควบคุมประมงปูยังเป็นเรื่องยาก ตราบที่ปูยังเป็นสัตว์สำคัญเลี้ยงปากท้อง มูลค่าที่เห็นชัดคือ จาก 10 ปีก่อน ราคาปูม้ากิโลกรัมละ 90 บาท เดี๋ยวนี้หากซื้อตรงจากชาวประมงราคากิโลกรัมละ 350 บาท (จำนวน 3-4 ตัว)    น่ากลัวเกินกว่าจะคิดต่อว่าจะเป็นอย่างไรหากสภาพของทะเลสาบเปลี่ยนแปลงสัตว์เศรษฐกิจหมดทะเล เพราะคงไม่เพียงชาวประมงรุ่นปัจจุบันที่ลำบาก ลูกหลานก็อาจหมดอาชีพไปด้วย คือจุดพลิกให้คุณอนันต์ มานิล ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน ป. ทรัพย์อนันต์ กับเพื่อนพ้องหันหน้าหารือเรื่องเพิ่มจำนวนปูทะเล ภายหลังจึงได้เปิดร้านอาหารเป็นธุรกิจหนึ่งของครอบครัว ปูสดใหม่จากท้องทะเล ราคาถูก อาหารรสเลิศ จากฝีมือแม่ครัวพื้นบ้าน ที่จะให้ความรู้สึกเหมือนมีคุณแม่กำลังทำกับข้าวให้เราทานกันเลยทีเดียว

 

ฟูมฟัก…อนุรักษ์ภูมิปัญญา สู่ต้นแบบศูนย์เรียนรู้

         “ถ้าให้เฉยๆ เขาจะไม่รู้ค่าของปู เราจะขอคุยทำความเข้าใจกับทุกคนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมปล่อยปูก่อน อย่าลืม  ว่าเราไม่ใช่ธนาคารปูทั่วไปอย่างเมื่อก่อน ที่รวมกลุ่มสมาชิกเพื่อนำแม่ปูมาฝากในกระชังหรือถังฟักแล้ว ปล่อยให้มันฟักเป็นตัวเองตามวงจรธรรมชาติ เห็นลูกปูอีกทีก็ตัวโตเท่าแม่โป้ง แต่วันนี้เราทำในลักษณะของโรงเพาะฟัก เพื่อเรียนรู้พัฒนาการของลูกปูแล้วนำความรู้นั้นมาเผยแพร่ เดือนหนึ่ง ๆ มีหน่วยงานต่าง ๆ ในภาคใต้ทั้งจังหวัดเดียวกันไปจนถึงปัตตานีมาขอลูกปูไปปล่อยราว 10-20 ครั้ง เราก็ให้ฟรีจำนวนครั้งละไม่ต่ำกว่าห้าแสนตัว เพียงแต่ก่อนให้ก็อยากสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจด้านการอนุรักษ์อย่างจริงจังแก่คนที่จะนำไปปล่อย เพราะลูกปูทุกชีวิตมีความสำคัญทั้งนั้น” (ชำนาญ มานิล)

 

 

1 เขียนโดยนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย นางสาวณัฐธิดา         ศรีผล นางสาวพิมพ์ชนก โรสิกะ นางสาวศิริรัตน์ ขุนเพ็ชร์ และนางสาวธัญชนก คำเกตุ

Share : แชร์ 2110 ผู้ชม 12 สิงหาคม 2564

กินปู ดูทะเล @ธนาคารปูสิงหนคร
ห้องแสดงผลงาน