การเดินทางของตัวหนังสือ

หน้าแรก ย้อนกลับ การเดินทางของตัวหนังสือ

เจ้าของผลงาน ศินันทิญา ศรีฟ้า Articles Students


 

การเดินทางของตัวหนังสือ

ร้านหนังสือเล็ก ๆ สงขลาย่านเมืองเก่า

 

ศินันทิญา ศรีฟ้า1

 

 

 

          เคยไหม? กับการตกหลุมรัก...เรื่องราวในหนังสือ

          หนังสือที่อาจพาคุณท่องไปในโลกของจินตนาการ และอาจเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตต่อไปในโลกแห่งความเป็นจริง

         มุมหนึ่งในซอยเล็ก ๆ บนถนนยะหริ่ง ณ ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลาที่แสนเงียบสงบ ร่มรื่นไปด้วยไอความเรียบง่ายจากผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ป้ายรูปตุ๊กตาหมีเด่นชัดจากมุมสีเขียวของซอย เดินเข้าไปไม่ลึกมากจะสังเกตเห็นบ้านปูนสองชั้นตั้งอยู่คู่กัน ‘ร้านหนังสือเล็ก ๆ’ เป็นร้านหนังสือที่เล็กสมชื่อ อันที่จริงหากมองเผิน ๆ คงไม่รู้ว่านี่คือร้านขายหนังสือ ด้วยลักษณะที่เหมือนบ้านพักอาศัย และตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านแถวทำให้ร้านนี้ดูกลมกลืน ทว่าใครจะรู้ว่านี่คือเสน่ห์ที่ทำให้ร้านนี้เป็นร้านที่ ‘แตกต่าง’

         ร้านหนังสือร้านนี้ตกแต่งเสมือนบ้านในสไตล์วินเทจ เพดานประดับโคมไฟส่องสว่างด้วยแสงสีเหลืองนวล          รับกับชั้นไม้สีขาว และสีน้ำตาลอ่อนเข้มสลับโทน กลางตัวบ้านตั้งไว้ซึ่งโต๊ะไม่ยาวรองรับหนังสือกว่าหนึ่งร้อยเล่ม รอบด้านวางเก้าอี้ตัวเล็กไว้สำหรับนั่งอ่าน หรือเลือกพิจารณาหนังสือบริเวณนั้น ในส่วนของพื้นบ้านถูกจัดเรียงด้วยกระเบื้องลายหินเก่า เข้ากับผนังฝั่งซ้ายที่เปลือยเป็นอิฐเก่าสีส้มเข้มอย่างไม่รู้สึกแปลกตา

           “เหตุผลที่เลือกบ้านสองชั้นหลังนี้เพราะมันอยู่ในย่านเมืองเก่าสงขลา และเป็นช่วงที่บริเวณนี้กำลังได้รับ            การฟื้นฟู พี่เลยติดต่อกับเจ้าของบ้านและบอกว่าอยากใช้บ้านหลังนี้เพื่อทำเป็นร้านหนังสือ ตอนแรกเขาก็จะไม่ให้นั่นแหละ แต่เราก็บอกไปว่าเราอยากใช้บ้านเขาทำเป็นร้านหนังสือให้คนมาเข้า เขาก็เริ่มเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามมา” นี่คือคำพูดจากพี่เอ๋ ที่บอกกับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี

 

 

        พี่เอ๋ อริยา ไพฑูรย์ อดีต บ.ก. สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน ผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ เธอเป็นชาว        สงขลาแท้ ๆ ที่อาศัยอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลากว่า 30 ปี ก่อนจะกลับมาปักหลักยังเมืองสงขลาอีกครั้ง จุดเริ่มต้นของร้านหนังสือเล็ก ๆ นั้นมีส่วนริเริ่มมาจากเพื่อนของพี่เอ๋ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเป็นเจ้าของร้านหนังสือเล็ก ๆ ซึ่งเปิดแถวถนนพระอาทิตย์ เมื่อปี พ.ศ.2537 เปิดได้ประมาณ 7 ปีก็ปิดตัวลง จากนั้นหลังพี่เอ๋กลับมา เพื่อนคนนี้จึงได้เอ่ยชวนพี่เอ๋มาเปิดร้านหนังสือด้วยกัน

      “สงขลาเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัย และโรงเรียนเยอะมาก แต่จังหวัดเราไม่มีร้านหนังสือเลย อีกเหตุผลคือ      อยากให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้ ถ้าเขาเข้ามาร้านหนังสือก็จะได้เห็นบ้านเก่า ได้รู้ว่าคนสงขลาอยู่กันยังไง” พี่เอ๋อธิบาย      ร้านหนังสืออิสระ

         ร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งนี้จำหน่ายหนังสือแนววรรณกรรมเป็นหลัก สามารถอ่านได้ตั้งแต่เด็กเล็กถึงวัยผู้ใหญ่        ทั้งวรรณกรรมแปล และวรรณกรรมไทย ซึ่งจะมีเรื่องราวสอนชีวิตสอดแทรกอยู่ในแต่ละเล่มด้วย

          การเปิดร้านหนังสือเล็ก ๆ ของพี่เอ๋ สิ่งที่เธอหวังไม่ใช่กำไรจากทรัพย์สินเงินทอง แต่เห็นจะเป็นความสุข              ของลูกค้าที่ย่างกรายเข้ามาหลงเสน่ห์ในร้านหนังสือของเธอ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่รักการอ่านหนังสือส่วนใหญ่      สิ่งที่เขาต้องการคือความสุขจากหนังสือที่อยู่ในมือ เช่นเดียวกับพี่เอ๋ที่มีความสุขในร้านหนังสือของเธอเอง เธอรู้จักทุกซอกทุกมุมในร้านเป็นอย่างดี รู้ว่าชั้นไหนรวมไว้ซึ่งหนังสือแนวไหน จุดไหนตั้งไว้ซึ่งวรรณกรรมประเภทใด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมร้านหนังสือเล็ก ๆ ร้านนี้ถึงไม่มีพนักงานคนอื่นนอกจากเจ้าของร้าน

          เราได้ถามพี่เอ๋ว่า ทำธุรกิจขายหนังสือนี่ขายยากมากไหม ซึ่งพี่เอ๋ก็ตอบกลับมาว่า

         “จริง ๆ ช่วงนี้ค่อนข้างคึกคัก เพราะว่ามันมีสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่คนให้ความสนใจ คือก่อนหน้านี้มันเป็นช่วงหนึ่งที่หนังสือต้องออกกับสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ แต่ช่วงนี้คนเริ่มหันมาสนใจสำนักพิมพ์เปิดใหม่มากขึ้น เพราะงั้นความสนุกของปัจจุบันคือมีหนังสือหลากหลายแนวมากขึ้น คนไทยชอบแบบไหนสำนักพิมพ์นั้น ๆ ก็จะทำแต่แนวที่เจาะเฉพาะกลุ่มลูกค้า ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละสำนักพิมพ์”

 

กระดาษที่จับต้องไม่ได้

           วงการหนังสือเกิดสิ่งที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘หนังสืออิเล็กทรอนิกส์’ หรือ ‘E-Book’ ซึ่งเป็นหนังสือที่สามารถอ่านได้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดเป็นคำถามว่าผู้คนนิยมชมชอบหนังสือแบบใดมากกว่ากัน และแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร

        “จริง ๆ มันก็ดีคนละอย่าง พี่ก็อ่าน E-Book เพราะมันสะดวก อย่างเช่น สมมติจะไปไหน บางทีเราก็ไม่อยากจะพกหนังสือหลายเล่ม ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะพกเล่มไหนบ้าง แต่ E-Book เนี่ยมีเป็นร้อย เป็นพัน ๆ เล่ม       จะอ่านตรงไหน เมื่อไหร่ก็ได้ และมันก็สะดวก” พี่เอ๋อธิบาย “แต่จะว่ามันก็มีหลายอย่างที่ไม่สะดวก มันก็ต้องอาศัยเครื่องมือ อาศัย Wifi อาศัยอินเทอร์เน็ต ต้องมีแบตเตอรี่อะไรในเครื่องหลายอย่าง ไม่เหมือนกับหนังสือที่จะหยิบไปอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ จริง ๆ คนส่วนมากก็ยังชอบหนังสือเล่มอยู่ เพียงแต่ว่าในบางช่วงเวลาอาจจะไม่สะดวกที่จะพกหนังสือเล่มเขาก็อ่านในอินเทอร์เน็ตได้”

        นอกจากนี้พี่เอ๋ยังพูดต่อด้วยว่า “แต่จริง ๆ คนที่ไม่อ่านหนังสือเนี่ย ก็คือไม่อ่านหนังสือเลยต่อให้จะเป็นหนังสือ-  เล่ม หรือ E-Book เขาก็ไม่อ่าน ปัญหาใหญ่มันอยู่ตรงนี้มากกว่า ความคิดเห็นของพี่คือ คนไม่อ่านต่อให้อ่าน E-Book ก็ยังดี เพราะข้อสำคัญของหนังสือคือ Content ไม่ว่าคุณจะอ่านจากสื่อแบบไหน อย่างน้อยฟังก็ได้ บางคนสมมติว่าไม่อยากอ่านแล้ว ตาไม่ดีแล้ว ฟังหนังสือเสียง ก็ฟังได้ ดังนั้นข้อสำคัญของหนังสือคือ Content คือ   เนื้อเรื่อง ไม่ว่าจะสื่อออกมาแบบไหนถ้าคนอ่านหรือคนฟังมันก็ดีกว่า แต่ว่าตอนนี้ปัญหาคือ E-Book ก็ไม่อ่าน หนังสือเล่มก็ไม่อ่าน”

          คำพูดของพี่เอ๋เป็นความจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่มีข้อโต้แย้งเลยว่าคนไทยอ่านหนังสือกันน้อยมาก ซึ่งนี่เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมร้านหนังสืออิสระในชุมชนถึงมีน้อย

 

 

หนังสือกับการเดินทาง

        “เวลาเราอ่านหนังสือ มันจะเกิดสิ่งที่ทำให้เราได้วิเคราะห์จากหนังสือ” พี่เอ๋กล่าว “อย่างบางเล่มเราไม่จำเป็น      ต้องเรียนจากประสบการณ์จริง แต่ว่าคนบางคนเขาใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตของเขาทุ่มเทให้กับงานเขียนเล่มนั้น อาจจะเขียนเล่าตรง ๆ หรือเล่าออกมาเป็นนิยายอะไรก็แล้วแต่ แต่เราในฐานะคนอ่านก็ไม่ต้องเสียเวลาในการที่จะไปประสบพบเจอเอง ขณะที่เมื่อเราอ่านหนังสือเราก็สามารถต่อยอดได้อีกแทนที่เราจะนับจากศูนย์”

        เจ้าของร้านหนังสือเล็ก ๆ แนะนำต่ออีกว่า “อีกอย่างพี่ว่ามันจรรโลงใจเราในบางช่วง เราอาจจะอยากเลือก      หลาย ๆ อย่าง เช่น ช่วงนี้อยากอ่านหนังสือแนวนี้ ช่วงนี้อยากจะศึกษาหาความรู้เป็นหนังสือแนวนี้ หรืออยากจะหาความรู้ใหม่ ๆ อ่านหนังสือแล้วมันก็ให้แนวคิดใหม่ ๆ บางแง่มุมที่เราคิดไม่ถึง หรือเราไม่มีประสบการณ์ตรงนั้น”

          เราไม่เชื่อหรอกว่าร้านหนังสืออิสระแห่งนี้เป็นเพียงร้านหนังสือเล็ก ๆ

          เพราะเมื่อได้มาสัมผัสเรากลับพบว่า

          ที่นี่คือ ‘โลกใบใหญ่’ ที่ใครหลายคนเฝ้าค้นหา

          เช่นเรา

 

 

1 นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Share : แชร์ 2491 ผู้ชม 12 สิงหาคม 2564

การเดินทางของตัวหนังสือ
ห้องแสดงผลงาน