16 กุมภาพันธ์ 2566 | 1549 ผู้ชม
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.),มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ร่วมมือกันทางวิชาการจัดกิจกรรมเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ทางภาตใต้และคาบสมุทรมาลายู จัดงานสืบสานประเพณี บุญสารท ในเรื่องราวของ สืบสารทสานศิลป์ถิ่นโนรา ขึ้นเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบของภาคใต้ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง และพัฒนาต่อยอดในรูปแบบสื่อวีดีโอเผยแพร่ในเว็บไซต์ naamchoop.com รวมทั้งเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ ม.อ.
การจัดงานครั้งนี้ ทาง ม.อ. โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กานดา จันทร์แย้ม คณบดีคณะศิลปศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานต่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ.ประธานในพิธี เปิดงานนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาศิลปะการแสดงคณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 สาขาวิชาศิลปะการแสดง (โนรา ) มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ศาสตร์และศิลป์ทางด้านมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ไม่เพียงสะท้อนถึงความงดงามเท่านั้นแต่จะเป็นเครื่องสะท้อนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาประวัติศาสตร์ของผู้คนในพื้นที่ ที่องค์กร UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้โนรา หรือมโนราห์ ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้คนทางภาคใต้ ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับเป็นการแสดงของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกจากยูเนสโก้ เป็นลำดับที่ 3 ต่อจากโขนและนวดไทย...
ในพิธีเปิดงาน สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา ครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. ได้กล่าวแสดงความรู้สึกในพิธีเปิดในบางตอนว่ากระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มาเปิดงานบุญสารท เดือนสิบ สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา ที่ทั้งสามมหาวิทยาลัยจัดขึ้นในวันนี้ โดยเฉพาะการได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงศิลปะ (โนรา) มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ศาสตร์และศิลป์ด้านมโนราห์ ที่เป็นศิลปะการแสดงที่เป็นประเพณีที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมในวิถีชีวิตของคนใต้มาอย่างยาวนาน ที่ทางยูเนสโก้ ได้ยกย่องประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ที่ถือเป็นความภูมิใจของภาคใต้ของประเทศไทย...
ในการจัดงาน สืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา ครั้งนี้ ได้จัดเวทีเสวนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโนรา โดยได้เชิญผู้ที่มีความรู้ในเรื่องราวของโนราคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา คุณเนติพงศ์ ไล่สาม และ ดร.รื่นฤทัย รอดสุวรรณ เป็นวิทยากรร่วมเสวนา และ มีการสาธิตประเพณีการชิงเปรต ให้นักเรียน นักศึกษาและผู้ร่วมงาน ได้ร่วมได้รับความรู้ ร่วมสนุกด้วย ถือเป็นกิจกรรมที่เป็นความสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของภาคใต้ที่หนังสือพิมพ์โฟกัส รายสัปดาห์ คอลัมน์ “สงขลาสู่มรดกโลก” ขอนำมาเผยแพร่ ให้ได้เป็นความภูมิใจ ในงานสืบสารท สานศิลป์ ถิ่นโนรา ของคณะศิลปศาสตร์ และทั้งสามมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นในครั้งนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์สงขลาโฟกัส ฉบับที่ 1,255 วันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 หน้าที่ 16-17