หน้าแรก ย้อนกลับ ผี: ความเชื่อในภาคใต้
ที่มา ชมรมศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผี: ความเชื่อในภาคใต้
ผี1เป็นปรากฏการณ์เรื่องความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวบ้านที่มีมาช้านาน ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากที่เชื่อกัน ดั้งเดิมว่าจิตวิญญาณมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตครั้นเมื่อตายไปวิญญาณเหล่านั้นยังคงอยู่ และสิงสถิตอยู่ตามภพภูมิต่าง ๆ ในธรรมชาติ ผีในความเชื่อนั้นมีทั้งผีดีผีร้าย ผีดีซึ่งเชื่อว่าให้ความคุ้มครองนั้นอาจได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเทวดา (ชั้นต่ำ) ได้ บางประเภทอาจจะดีหรือร้ายก็ได้ พวกนี้คงเป็น “ผีคาบเส้น” สำหรับความเชื่อเรื่องผีในภาคใต้บางชนิดก็เชื่อเหมือน ๆ กับคนภาคอื่น ๆ และบางชนิดก็เชื่อกันในภาคใต้ถือเป็นผีประจำถิ่น ผีมีที่สิงสถิตอยู่ทั่วไปทั้งในดิน ในน้ำ ในอากาศ ในป่า ในบ้านเรือน ผีที่เคยเชื่อกันในภาคใต้มี 38 ชนิด ได้แก่ 1) ผีกองกอย 2) ผีกะ 3) ผีกละ หรือ จะกละ 4) ผีกลิ้งกลางดง 5) ผีโขมด 6) ผีเจ้าเสน 7) ผีฉมบ/ผีมบ 8) ผีชิน 9) ผีด้ำ 10) ผีครูหมอ 11) ผีนางตะเคียน 12) ผีนางตานี 13) ผีนางประดู่ 14) ผีโปหมอ 15) ผีโป่ง 16) ผีโป่งค่าง 17) ผีเปรต 18) ผีปราบ 19) ผีไผ่ขาคีม 20) ผีพราย 21) ผีแม่หนุ้ย 22) ผีตาเหล้อเก้อ 23) ผีบ้าน/ผีเรือน 24) ผีแม่ย่านาง 25) ผีนางไม้ 26) ผีปู่โสม 27) ผีทะเล 28) ผีแม่พังสะดำ 29) ผีตาแมดกะเห่ย 30) ผีตัวฮู่ 31) ผียาเงาะ 32) ผีบรรพบุรุษชาวเล 33) ผีหลาง 34) ผีหล้วง 35) ผีหลังกลวง 36) ผีนางโอกระแชง 37) ผีพ่อตา 38) ผีนายหฺมฺรูน โดยยกตัวอย่างรายละเอียดผีบางประเภท ดังนี้
1) ผีเจ้าเสน เสน คือปานชนิดหนึ่งเกิดตามผิวหนังคน เชื่อกันว่าผีเจ้าเสนบันดาลให้เกิดขึ้น เราสามารถลบเสนออกได้โดยให้ครูหมอโนราทำพิธีเหยียบเสนในพิธีกรรมโนราโรงครู และบ้างก็ว่าผีเจ้าเสนบันดาลให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องว่าคนนั้นจะต้องเป็นโนรา
2) ผีครูหมอ จัดเป็นผีบรรพบุรุษ บางทีก็เรียกว่า ผีครูหมอตายาย เป็นเชื้อสายที่บุคคลในตระกูลนับถือ ครูหมอ คือ ผู้เคยประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาให้ลูกหลานหรือศิษย์ได้สืบทอด ผู้ที่สืบทอดจะต้องเซ่นไหว้เพื่อรำลึกถึงตามโอกาส เช่น ครูหมอโนรา หนังตะลุง กาหลอ ครูหมอเหล็ก ลิเกป่า หมอตำแย ฯลฯ ในการเซ่นไหว้จะต้องออกชื่อครูหมอที่นับถือกันทั่วไป และครูหมอเฉพาะสายของตนเองด้วย
3) ผีตาแมดกะเห่ย เป็นผีป่าตามความเชื่อของซาไกแถบเทือกเขาบรรทัด เล่าว่าจะปรากฏตัวเป็นเสือ และเชื่อ ว่าคือบรรพบุรุษพวกเขาที่เข้าป่าล่าสัตว์แล้วหายไปนานแล้วต่อมากลายร่างเป็นเสือ เรียกว่า “ทวดเสือเล็ก” บางครั้งปรากฏให้เห็นเต็มตัว บางครั้งให้เห็นเฉพาะตายิงไม่ตาย ถ้าใครยิงทวดเสือเล็กก็จะยิ่งโตขึ้น
4) ผีหล้วง เป็นผีเจ้าที่ชนิดหนึ่งทำนองผีปราบ ใครไปทำสกปรกบริเวณผีหล้วงอยู่อาจถูกผีทำได้ ใครปลูกบ้าน บนทางผีหล้วงจะทำให้อยู่ไม่เป็นสุข ความจริงผีหล้วงเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในจำพวกกระแตตัวเล็ก ตาโปนสีแดง มีชุกชุมแถบทิวเขาชายเขตสุราษฎร์ธานีต่อเขตพังงา กระบี่
5) ผีพ่อตา เป็นประเภทผีเจ้าที่ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่สุด คำว่า “พ่อตา” เป็นคำที่ใช้เรียกกันทางภาคใต้ตอนบนทั่วไปก็จะเรียกว่า “ทวด” ในกลุ่มไทยมุสลิมจะเรียกว่า “โต๊ะ” เป็นประเภทผีอารักษ์ชาวบ้านมักสร้างศาลให้เรียกว่า “ศาลพ่อตา/หลาทวด” เล็กบ้างโตบ้างตามความสำคัญ พ่อตาหรือทวดนี้อาจหมายถึงคน หรือสัตว์ขนาดใหญ่บางชนิด หรืออาจไม่ปรากฏเป็นสัญลักษณ์อย่างใดก็ได้ แต่เป็นบริเวณที่ผูกพันอยู่กับชีวิตชุมชน ผีประเภทนี้ถือว่าเป็นเทวดา (ชั้นต่ำ) พวกหนึ่ง ในการประกอบพิธีกรรมจะต้องเชื้อเชิญมาร่วมในพิธี ผีประเภทนี้มีมากมายนับร้อย ๆ ชื่อ บางแห่งก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไป บางชื่อก็รู้จักกันเฉพาะถิ่น เช่น พ่อตาหลวงแก้ว ระนอง, พ่อตาหินช้าง ชุมพร, พ่อตาหินหลัก พังงา, ทวดเขาช่อง, พ่อตาขุนศร, โต๊ะพระม่วงทอง ตรัง, พระแทว ภูเก็ต, โต๊ะหยงกง, แม่นางพลับพลึง สตูล, ทวดหุม พัทลุง, แม่ศรีขวัญทอง สุราษฎร์ธานี, โต๊ะช่อง, โต๊ะยวน, โต๊ะหินขวาง, โต๊ะนาง, ทวดเขาล้อน, พญายอดน้ำ และเทวดาน้ำร้อน กระบี่ เป็นต้น
1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ผี: ความเชื่อในภาคใต้” (หน้า 4747-4751). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 10. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 19183 ผู้ชม