หน้าแรก ย้อนกลับ นายสร้อย ดำแจ่ม
นายสร้อย ดำแจ่ม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงบอก) ประจำปี พ.ศ. 2538
1.ประวัติ |
นายสร้อย ดำแจ่ม1 หรือที่รู้จักกันในนาม “เพลงบอกดอกสร้อย” หรือ “ดอกสร้อยเสียงเสนาะ” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2468 ที่บ้านบ่อล้อ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายแจ้กับนางพั้ว และได้สมรสกับนางกิ้งซุ้น มีบุตรร่วมกัน 4 คน เพลงบอกดอกสร้อยได้มีโอกาสฟังเพลงบอกแล้วเกิดความประทับใจ จึงริเริ่มหัดว่าเพลงบอก ด้วยตนเอง ครั้นเมื่อมีโอกาสได้ร้องโต้กับเพลงบอกเผียน (เพลงบอกที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น) ณ วัดโคกพิกุล แม้จะเอาชนะเพลงบอกเผียนไม่ได้ แต่ก็ได้แสดงฝีปากคมคายในการโต้เพลงบอกจนเป็นที่ประทับใจของผู้ชม หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพลงบอกดอกสร้อยเป็นเพลงบอกที่เลี้ยงชีพด้วยการว่าเพลงบอกตามงานต่าง ๆ โดยมีวิธีการ หาเงิน คือ ว่าเพลงบอกให้กับเจ้าภาพจัดงานแล้วนำรายได้มาแบ่งครึ่งกัน โดยในแต่ละงานเพลงบอกดอกสร้อยสามารถหาเงินได้จำนวนมาก เพราะมีเสียงที่ไพเราะกังวาน มีศิลปะในการจูงใจบริจาคโดย ไม่ต้องบังคับ รวมทั้งมีวิธีการว่าเพลงบอกที่แตกต่างจากเพลงบอกทั่วไป คือ มีการว่ากลอนหนังตะลุงกับโนราสอดแทรกเข้าไป ทำให้เกิดความสนุกสนาน หลากรส และหลายทำนอง เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ทั้งนี้แม้เพลงบอกดอกสร้อยจะเริ่มเล่นเพลงบอกโดยไม่มีครูสอนโดยตรง แต่ก็ยกย่องครูเพลง- บอกที่ชื่นชอบเป็น “ครู” โดยเฉพาะปานบอดและพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) นอกจากนี้ยังมีเพลงบอกเนตร ชลารัตน์ และครูมิตร เกาะแก้ว ที่เพลงบอกสร้อยถือว่ามีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของตน จนสามารถสร้างชื่อเสียงติดปากคนปักษ์ใต้ว่า “ดอกสร้อย เสียงเสนาะ” |
2.การศึกษา |
- สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดสระโพธิ์ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช |
3.รางวัล |
พ.ศ.2520: ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียรในการแข่งขันประชันเพลงบอก ณ แหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา พ.ศ.2534: ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะการแสดง จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2538: ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านเพลงบอก โดยได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี |
1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “สร้อย ดำแจ่ม” (หน้า 7807-7808). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 16. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 3813 ผู้ชม