โนราละมัยศิลป์

หน้าแรก ย้อนกลับ โนราละมัยศิลป์

โนราละมัยศิลป์
ภาพสืบค้นจาก Noraramai
 
 
โนราละมัยศิลป์
 
 

1.ประวัติ

           โนราละมัย ศรีรักษา1 เกิดวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2497 ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นบุตรของนายจายและนางเคลื่อน ศรีรักษา ครอบครัวของโนราละมัยเป็นครอบครัวศิลปินทั้งครอบครัว โดยสืบเชื้อสายโนรามาจากปู่และทวด คือ โนราช่วงและโนราเกลื้อน ปัจจุบันโนราละมัยอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 45/12 หมู่ที่ 2 ซอยสุภาพอ่อนหวาน ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยโนราละมัยมีบุตรจำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายอรุณ ละอองสม (ถึงแก่กรรม) 2.นางสาวรักชนก ละอองสม และ 3.นางสาวพัชรี ละอองสม

       นอกจากการศึกษาทางวิชาการในสถานศึกษาแล้ว โนราละมัยยังสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้การแสดงโนราพื้นบ้านตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากเติบโตมาในครอบครัวศิลปินพื้นบ้าน โดยนายจาย ศรีรักษา ผู้เป็นบิดามีความสามารถในการแสดงพื้นบ้านหลายประเภท เช่น ลิเกป่า หนังตะลุง และโนรา จากการคลุกคลีมาตั้งแต่เด็กเลยส่งผลให้โนราละมัยมีความใฝ่ฝันอยากเป็นโนรา บิดาจึงให้ข้อคิดว่า “หากคิดจะรำโนราต้องร้องกลอนมุตโตให้ได้” บิดาจึงฝึกให้ด้วยการร้องกลอนมุตโตโต้ตอบกัน โดยบิดาจะเป็นผู้เริ่มร้องกลอนก่อน การฝึกร้องกลอนมุตโตบ่อย ๆ ทำให้นางสาวละมัย ศรีรักษา สามารถร้องกลอนมุตโตได้ดีระดับหนึ่ง หลังจากฝึกร้องกลอนมุตโตจนชำนาญพอสมควร ต่อมาเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ โนราละมัยจึงได้ฝึกรำโนรา โดยเริ่มจากการแอบดูโนราร่วม เกตุแก้ว สอนโนราให้เด็กในชุมชน จากนั้นก็ได้ไปขอฝากตัวเป็นศิษย์กับโนราร่วม โนราละมัยได้เรียนวิชาการรำกับโนราร่วมจนกระทั่งท่านถึงแก่กรรม จึงได้ย้ายไปเรียนกับโนราจำเริญศิลป์ ต่อมาโนราละมัยได้ออกเดินสายรำโนราเพื่อหาประสบการณ์กับโนราหลายคณะ เช่น โนราหมึก เมืองตรัง โนราเฟื่องฟ้าดาราน้อย โนราแป้นเครื่องงาม โนราจันทร์แจ่มฟ้า โนราเลื่อนน้อย โนราอบอวบ โนรายก ชูบัว และโนราสาโรช นาคะวิโรจน์ วิทยาลัยครูสงขลา เป็นต้น การได้ออกโรงกับโนราที่มีชื่อเสียงทำให้โนราละมัยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับโนรา จนสามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับตนเองได้ คือ “เป็นโนราหญิงมีน้ำเสียงไพเราะ มีพลัง เชี่ยวชาญด้าน การร้องกลอนมุตโตและการทำบท

2.การศึกษา

ปี พ.ศ.2507:  สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดไตรสามัคคี ตำบลบางกุ้ง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

3.การทำงาน

ปี พ.ศ. 2528:  ลูกจ้างประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ปี พ.ศ.2541 - พ.ศ.2557:  ครูโนราประจำศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่

ปี พ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน:  รับแสดงโนราทั่วไป

4.รางวัล

ปี พ.ศ. 2546:  ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดดนตรีพื้นบ้าน (โนรา) ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปี พ.ศ. 2546:  ได้รับรางวัลที่หนึ่งโครงการประกวดสื่อพื้นบ้านประเภทโนรา จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา

ปี พ.ศ. 2547:  ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณเป็นศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลา สาขาศิลปะการแสดงโนราจากจังหวัดสงขลาและสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ปี พ.ศ. 2554:  ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 7 ด้านศิลปกรรม การแสดงพื้นบ้านโนราจากสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา

ปี พ.ศ.2557:  ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเว็บไซต์ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”, สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2563

แชร์ 3106 ผู้ชม

ครูพื้นบ้าน

องค์ความรู้