ที่มา วัฒนธรรม
1.ประวัติ |
นายควน ทวนยก1 เกิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2482 ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เริ่มต้น ศึกษาดนตรีไทยวงปี่พาทย์ ต่อมาเรียนระนาดทุ้ม ฆ้องวง กลองทัด ตะโพน และเป่าปี่ ขณะเรียนเป่าปี่ก็เกิดความรู้สึกว่าชอบปี่ จึงได้ไปเรียนปี่หนังตะลุงแบบครูพักลักจำจากนายปี่หนังตะลุงทั่วไป ต่อมาได้หัดเป่าปี่โนรา โดยมีขุนอุปถัมภ์นรากรชี้แนะทางปี่ให้ นายควน ทวนยก เริ่มเป่าปี่เมื่ออายุ 16 ปี เป็นนายปี่ให้คณะหนังตะลุงและโนราหลายคณะ ทั้งในจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งมีการแสดงในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส กรีซ และตุรกี เป็นต้น นายควน ทวนยก เป็นผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้าน โดยเฉพาะทางด้านปี่หนังตะลุงและปี่โนราที่มีลักษณะโดดเด่นกว่างานอื่น ๆ ผลงานเพลงที่คิดขึ้นใหม่มีมากกว่า 50 เพลง มีทั้งเพลงที่คิดขึ้นเองทั้งหมด อีกทั้งนำเพลงเก่ามาสร้างสรรค์ใหม่ และเพลงที่ประสมประสานเพลงเก่ากับเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ โดยมีเทคนิคและวิธีการสร้างสรรค์คือ บรรจุทำนองเพลงตามลักษณะท่ารำ นำเพลงเก่าที่ไม่ค่อยมีผู้นำมาบรรเลงในการแสดงหนังตะลุงและโนรามาใช้บรรเลงเพลงประกอบระบำจึงเป็นการสืบทอดเพลงไม่ให้สูญหาย และคัดสรรทำนองเพลงที่มีสำเนียงแขกมาปนอยู่ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นดนตรีท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้บทเพลงต่าง ๆ มีสำเนียงที่นุ่มนวลอ่อนหวาน และมีกลิ่นอายวัฒนธรรมทางใต้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมนำไปแสดงในวงกว้าง รวมทั้งได้รับเชิญเป็นครูสอนดนตรีและวิทยากรในหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช |
2.การศึกษา |
ปี พ.ศ. 2479 : สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดวาส บ้านหนองหอยออก ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร ปี พ.ศ. 2543 : ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา |
3.การทำงาน |
ปี พ.ศ. 2498 : เป็นนายปี่ให้กับคณะหนังเพียร เกาะสมุย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ปี พ.ศ. 2501 : นายปี่คณะหนังเจือ พานยาว จังหวัดสงขลา ปี พ.ศ. 2505 : นายปี่คณะหนังประคองศิลป์ (ประคอง ผลบุญ) จังหวัดสงขลา ปี พ.ศ. 2509 : พนักงานสำรวจทางศูนย์เครื่องมือกล จังหวัดสงขลา ปี พ.ศ. 2516 : คนสวน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ปี พ.ศ. 2542 : ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา |
4.รางวัล |
ปี พ.ศ. 2518 : เหรียญสมเด็จย่า ปี พ.ศ. 2542 : ศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลา สาขาศิลปะการแสดง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2543 : รางวัลราชมงคลสรรเสริญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปี พ.ศ. 2553 : รางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) |
1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเว็บไซต์ “ศิลปินแห่งชาติ”, สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
แชร์ 2850 ผู้ชม