การแต่งงาน : ความเชื่อเรื่องการครองเรือนของบ่าวสาวบรูไนฯ

หน้าแรก ย้อนกลับ การแต่งงาน : ความเชื่อเรื่องการครองเรือนของบ่าวสาวบรูไนฯ

การแต่งงาน : ความเชื่อเรื่องการครองเรือนของบ่าวสาวบรูไนฯ

ที่มา https://www.freepik.com/home 

 

การแต่งงาน : ความเชื่อเรื่องการครองเรือนของบ่าวสาวบรูไนฯ

          “ดินแดนแห่งความสงบสุข” ความหมายของ เนการา บรูไนดารุสซาลาม หรือประเทศบรูไนที่เรารู้จักกันดีในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน แม้บรูไนจะขึ้นชื่อในด้านเศรษฐกิจและผู้คนที่เป็นมิตร ทว่าอีกด้านหนึ่งของบรูไนยังคงมีรากวัฒนธรรมมลายูเก่าแก่ผนวกรวมเข้ากับวัฒนธรรมอิสลามในปัจจุบันอย่างเหนียวแน่น อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเกินกว่าจะไหลไปตามความทันสมัยในโลกยุคปัจจุบัน

พิธีกรรมและความเชื่อในงานแต่งงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาของชาวบรูไน

          วัฒนธรรมและขนบประเพณีเป็นสิ่งที่กําหนดวิถีชีวิตของชาวบรูไนมาอย่างยาวนานและค่อนข้างเคร่งครัด ดังนั้นความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมเหล่านี้จึงยังคงสืบสานความเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ในประเพณีต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึง‘การแต่งงาน’ อันถือเป็นพิธีมงคลที่มีขั้นตอนและข้อห้ามตามความเชื่อของชาวบรูไนซึ่งยังคงสืบทอดอยู่ในปัจจุบัน

          1. พิธีเบอร์ซูโระห์

          ย้อนไปในสมัยอดีต คู่หมั้นหญิงและชายไม่มีโอกาสเจอกันเนื่องจากชายหญิงไม่นิยมคบค้าสมาคมดังนั้นการติดต่อจึงเริ่มจากฝ่ายชายส่งครอบครัวมาสอบถามครอบครัวฝ่ายหญิง หากฝ่ายหญิงยังโสดจะแจ้งแก่ฝ่ายชายและนัดวันเจรจางานหมั้น โดยในวันเจรจาจะให้เวลาฝ่ายหญิงตัดสินใจและฝ่ายชายจะกลับมาอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไปซึ่งการที่ฝ่ายชายไปฟังคําตอบนี้เราเรียกว่า “เบอร์ซูโระห์” หากฝ่ายหญิงตกลงสามารถให้เงินหรือทรัพย์สินบางอย่างตามอัตภาพของฝ่ายชายได้

          2. งานหมั้น

       ภายในงานหมั้น มีการให้ของหมั้น ค่าสินสอด และกําหนดวันแต่งงานตามปกติทั่วไป หากแต่กกฎเกณฑ์การมอบของหมั้นอาจแตกต่างกับงานแต่งในประเทศไทยอยู่บ้าง อาทิ ฝ่ายชายมีการให้ค่าใช้จ่ายในครัวกับฝ่ายหญิงเพื่อใช้ในการเตรียมของในครัวและไม่สามารถเรียกเก็บได้ ค่าสินสอดเป็นของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียวเท่านั้นไม่ใช่ของพ่อหรือแม่ฝ่ายหญิงโดยจะเป็นของผู้อื่นได้ก็ต่อเมื่อเจ้าสาวยินยอมให้ด้วยตนเอง หรือในกรณีที่เจ้าสาวมีพี่สาวที่ยังไม่แต่งงาน ฝ่ายชายต้องมอบเสื้อผ้าอีกชุดให้พี่สาวด้วย เป็นต้น

          3. การเตรียมความเรียบร้อยของสถานที่จัดงานแต่ง

          สองสัปดาห์ก่อนแต่งงาน ฝ่ายชายต้องซ่อมและเตรียมความเรียบร้อยของบ้าน ส่วนบ้านฝ่ายหญิงจะมีการเตรียมบัลลังก์และเตรียมขนมหวานเพื่อเลี้ยงแขกในวันแต่งงาน

          4. พิธีการทาแป้งอาบน้ำ

          หนึ่งสัปดาห์ก่อนแต่งงานจะมีพิธี “การทาแป้งอาบน้ำ” ซึ่งจะจัดในช่วงกลางวันเพื่อให้บ่าวสาวชําระสิ่งสกปรกในร่างกายให้สดชื่น มีการเชิญแขกที่เป็นญาติมิตรใกล้ชิดกันเวียนกันทาแป้งให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาว โดยจะให้บิดามารดาทาเป็นคนแรกซึ่งพิธีนี้ถือเป็นพิธีสำคัญที่เปลี่ยนสถานภาพจากโสดเป็นสมรส

          เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วจะมีพี่เลี้ยงนําเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าไปในห้องเพื่ออาบน้ำทาแป้งโดยทั้งคู่ต้องเปลี่ยนเป็นชุดสีขาวซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ ตามที่ Nur E’ zzti Rasyidah binti Haji Abdul Samad (2562, น.15) สัมภาษณ์ผู้ร่วมพิธีแต่งงานซึ่งกล่าวถึงความเชื่อว่า “ชุดสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธ์และสะอาด ซึ่งการแต่งงานเปรียบได้กับการเข้าสู่จุดใหม่ของชีวิต หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นชุด telkung ซึ่งเป็นผ้าละหมาด” จากนั้นพี่เลี้ยงจะนําแป้งจากสมุนไพรซึ่งท่องคาถาเอาไว้มาทาให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนจะลูบออก เรียกว่า ‘ลูลุด’ และอาบน้ำบ่าวสาวด้วยน้ำหอม น้ำดอกมะลิ น้ำดอกกัมบิรฺและดอกกัมบิจี ซึ่งระหว่างนั้นจะจุดกำยานด้วย โดยพิธีดังกล่าวถือเป็นการชําระจิตใจให้ผ่องใสพร้อมสู่การเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตสมรส

          5. ราตรีที่นอนไม่หลับ

          คืนก่อนวันแต่งงานจะเป็นการจัดงานเฉลิมฉลองโดยจัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ เช่น การบรรเลงดนตรีอ่านกวี เล่นหมากรุก ซึ่งในคืนนี้ทุก ๆ คนไม่ว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จะเที่ยวเล่นกันไปจนถึงเวลาฟ้าสาง

          6. ราตรีที่ต้องทาแป้ง

          พิธีทาแป้งนี้จะเริ่มในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องนั่งบนบัลลังก์โดยมีเหล่าเพื่อนบ้านและเพื่อนฝูงมาร่วมพิธีโดยเวียนกันทาแป้งให้บ่าวสาวซึ่งเป็นงานที่ใหญ่รองลงมาจากวันแต่งงาน โดยคู่บ่าวสาวต้องสวมชุดประเพณีของบรูไนและนั่งบนเสื่อที่เตรียมการไว้ จากนั้นกลุ่มร้องเพลงอะนาซีดจะกล่าวยาฮาบีมี ยามูหัมมัดแล้วจึงเริ่มทาแป้งเหมือนในพิธีทาแป้งอาบน้ำ มีการเปลี่ยนชุด และกลับมาทําพิธีโดยมีสตรีสูงอายุเป่าคาถา “วะอาลัยกุมมุสสลาม-ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านเช่นเดียวกัน” ก่อนบ่าวสาวจะเข้ามุ้งและกล่าวดุอาอฺขอให้ทั้งคู่อยู่เย็นเป็นสุข

          7. การนิกาฮฺ (แต่งงาน)

          ในงานแต่งงานมีการเชิญเจ้าหน้าที่รัฐหรือหัวหน้าหมู่บ้านมาเป็นแขกผู้มีเกียรติเพื่ออ่าน ‘คุฎบะฮฺ นิกาฮฺ’ ซึ่งเป็นธรรมกฐาเกี่ยวกับพิธีแต่งงานจากนั้นจึงเริ่มต้นพิธีนิกาฮฺ (แต่งงาน) และฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวมีการกล่าว
‘คําเสนอ คําสนอง’ จนกระทั่งเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานโดยสมบูรณ์

ข้อห้ามในการแต่งงานของชาวบรูไน

          คนบรูไนมีความเชื่อในงานแต่งที่ไม่ให้ละเมิดโดยเด็ดขาดเพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรืออาจทําให้เกิดการหย่าร้าง เช่น ห้ามมีเพศสัมพันธ์ก่อนคืนที่สามในพิธีแต่งงานและห้ามนอนก่อนถึงเวลาละหมาดซุบฮ์ (05.00 น.) เพราะเชื่อว่าจะทําให้ตายเร็ว ห้ามสามีภรรยาข้ามแม่น้ำภายใน 40 วันหลังจากแต่งงานเพราะเชื่อว่าจะเกิดความหายนะ และห้ามย้ายที่นอน ตากหมอน เตียง และเปิดมุ้ง 40 วันหลังแต่งงานเพราะเชื่อว่าจะเกิดการหย่าร้าง กล่าวได้ว่า แม้ผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมมากน้อยเพียงใด วัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่นี้ยังควรค่าต่อการอนุรักษ์เอาไว้เพื่อย้ำเตือนให้คนรุ่นใหม่มองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนรากฐานซึ่งหล่อเลี้ยงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวบรูไนให้เข้มแข็งยาวนานตราบกระทั่งยืนหยัดเป็นบรูไนได้จนถึงปัจจุบัน ตามที่สุภาษิตบรูไนกล่าวเอาไว้ว่า ‘Biar Mati Anak, Jangan Mati Adat’ หรือแปลความได้ว่า ‘ถึงแม้จะสูญเสียลูกไป (แต่) อย่าให้จารีตประเพณีตายตามไปด้วย’ (อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง, 2563)

ดลมนรรจน์ บากา. (2547). คู่มือประเทศบรูไน. ทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ชุด โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. https://kb.psu.ac.th/psukb/handle/
2553/5400

อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง. (2563). วิถีมลายู คนพื้นเมืองอุษาคเนย์. สืบค้น 9 มกราคม, จาก https://www.silpa
-mag.com/history/article_6553

Nur E’ zzti Rasyidah binti Haji Abdul Samad. (2019). Malay Traditional Marriage Ceremonies in Brunei: Continuity and Change. Gadong: Universiti Brunei Darussalam. Retrieved January 10, 2024. From https://ias.ubd.edu.bn/wp-content/uploads/2020/12/working_paper_
series_47.pdf

 

แชร์ 1234 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้