ทองสูง
ณัฐชา หนูคง
บรรพบุรุษ คือ บุคคลผู้ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มบุคคล หรือวงศ์ตระกูลโดยระบบการสืบเชื้อสายกัน บางวัฒนธรรมมีการเคารพบรรพบุรุษทั้งที่ยังอยู่และเสียชีวิตแล้ว วัฒนธรรมไทยที่ปฏิบัติกันในทางสังคมเน้นแสดงความเคารพนับถือเป็นใหญ่ ซึ่งการเคารพนับถือนิยมทำกันโดยการกราบไหว้บรรพบุรุษที่ยังมีชีวิต บางคนขอการปกปักรักษาจากบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้การกระทำแบบนี้เรียกว่า การบูชาบรรพบุรุษ
การบูชาบรรพบุรุษ หรือเรียกอีกอย่างว่า การเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในโอกาสต่าง ๆ เช่น การไหว้บรรพบุรุษในวันเช็งเม้งของจีน การไหว้ผีบรรพบุรุษในประเพณีแซนโฎนตาของชาวไทยเชื้อสายเขมร หรือการไหว้บรรพบุรุษในประเพณีวันสารทเดือนสิบของชาวใต้บ้านเราที่รู้จักกันดี ซึ่งการไหว้บรรพบุรุษแสดงถึงความเชื่อในความคงอยู่ของวิญญาณบรรพบุรุษที่มาในรูปแบบต่าง ๆ
ทองสูง (ทองโย่ง) เป็นความเชื่อในเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษของคนในชุมชนบ้านม่วงค่อม จังหวัดสงขลาที่มีมาอย่างยาวนานแต่ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนชัดเจน สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนต้นตระกูลนวลจันทร์ แต่ไม่ใช่เปรต มีอายุไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยปี โดยลักษณะเป็นหุ่นเชิดรูปคนขนาดใหญ่ แต่เดิมหุ่นเชิดทองสูงมี 5 ตัว และได้สูญหายไปเหลือเพียง 2 ตัว โดยโครงหน้าของหุ่นเชิดทองสูงอ้างอิงมาจากโครงหน้าที่มีอยู่จริง ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านม่วงค่อม ที่ชื่อว่า ทองแจ่งและทองท่อม ชาวบ้านเชื่อว่าอาจจะเป็นพ่อปู่แม่ย่า บุคคลที่เป็นต้นบรรพบุรุษและได้สืบทอดลูก ๆ หลาน ๆ ต่อมา
ลักษณะของหุ่นเชิดทองสูงบ้านม่วงค่อม
หุ่นเชิดทองสูงเป็นหุ่นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม สูง 3-4 เมตร สานด้วยตอกที่ทำจากไผ่สีสุก ลายตานกเปล้า ไหล่ทั้งสองข้างยาวประมาณ 8 ศอก กลางไหล่เว้นช่องรูปวงกลม ขนาดคอของทองสูงลอดขึ้นลงได้พอดี ตรงเอวดึงตอกให้ตาถี่เพื่อให้คอดเป็นเอว ล่างสุดเป็นรูปวงกลม จะไม่มีขา ใช้ขาคนเดินแทน ซึ่งคนเชิดหุ่นทองสูงจะต้องเป็นผู้ชายและต้องได้รับการยกขันเพื่อบูชาครู
ส่วนหัวของหุ่นเชิดทองสูงทำด้วยไม้ทองหลางที่มีน้ำหนักเบา หัวทองสูงผู้ชายใบหน้าทาด้วยสีดำ มีหนวดเคราทำให้ดูน่าเกรงขาม มีผ้าโพกหัวสีแดงที่ชาวบ้านเชื่อว่าเปรียบเสมือนมงคลที่ทำให้วิญญาณสัมภเวสีตนอื่นไม่สามารถมาอยู่ในหุ่นเชิดทองสูงได้ หัวทองสูงผู้หญิงมีใบหน้าสีขาวงดงาม มีเครื่องประดับตกแต่งที่คอยาวประมาณครึ่งศอกอยู่ระหว่างไหล่ทั้งสองข้าง ทองสูงทั้งสองจะสวมเสื้อแขนยาวที่มีสีสันและจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับการบนบานศาลกล่าว
ความเชื่อทองสูงในด้านต่าง ๆ
หุ่นเชิดทองสูงจะออกมาสร้างสีสันและยังสร้างความสนุกสนานในวันทำบุญต่าง ๆ หุ่นเชิดทองสูงจะหยอกล้อกับเด็ก ๆ และผู้คนที่ร่วมมาทำบุญด้วยลีลาที่พลิ้วไหว โดยมีเสียงดนตรี ขบวนกลองยาวและนางรำล้อมหน้าล้อมหลัง หากมีการทอดกฐินก็จะคอยรับเงินทำบุญ สร้างบรรยากาศที่ดีและส่งผลให้เกิดมิตรไมตรีต่อกันในระหว่างชุมชน เป็นความเชื่อสำคัญในชุมชนบ้านม่วงค่อมที่สืบสานมานานและจะช่วยกันสืบสานไปจนรุ่นสู่รุ่น
จินดารัตน์ โพธิ์นอก. (2561, 31 สิงหาคม). บรรพบุรุษ. เดลินิวส์, 23เทศบาลเมืองควนลัง. (2559). หุ่นเชิดทองสูง (บ้านม่วงค่อม). https://bit.ly/3YGJhUMมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. (2542). ทองสูง ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ (เล่มที่ 6 น.3027). ธนาคารไทยพาณิช.กิตติศักดิ์ วิสูตร, พสธร พรหมขาว, หทัยชนก หนูกลับ, อดิศร แซ่ลิ่ม,อรรถพล นะชัยรัก, อรวรรณ ชำนาญเนียม, และจุรีรัตน์ บัวแก้ว.(2557). ทองสูงกับวิถีชุมชุนคนบ้านม่วงค่อม ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. วารสาร ศิลปะ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 6(1), 65-71.
แชร์ 2249 ผู้ชม