โนราเหยียบเสน

หน้าแรก ย้อนกลับ โนราเหยียบเสน

โนราเหยียบเสน

 

โนราเหยียบเสน

ณัฐชา หนูคง

 

            ศิลปะการแสดงประเภทโนราเป็นการละเล่นที่เก่าแก่ของภาคใต้ นอกจากจะแสดงเพื่อความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังเป็นพิธีกรรมความเชื่อทางพุทธศาสนาระดับชาวบ้านอีกด้วย กล่าวคือ มีการผสมผสานลัทธิพราหมณ์กับความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา รวมไปถึง เซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น การเข้าทรง นอกจากนี้โนรายังแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า  “โนราโรงครู” ซึ่งโนราโรงครูมีพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ มากมาย และหนึ่งพิธีกรรมที่ชาวใต้รู้จักโนราโรงครูดีก็คือ ‘การเหยียบเสน’ ทั้งนี้โดยทั่วไปจะมีการจัดพิธีกรรมโนราโรงครูจำนวน 3 วัน คือวันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ซึ่งการเหยียบเสนจะเริ่มทำในคืนวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของพิธี

            การเหยียบเสน เป็นการแพทย์ที่เหนือธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เป็นคติความเชื่อของชาวใต้มาอย่างยาวนาน ช่วยคลี่คลายปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจ ลักษณะของเสน จะเป็นอาการผิดปกติอย่างหนึ่งของผิวหนังที่มีลักษณะนูนเป็นแผ่น ๆ คล้ายปาน แต่ไม่ได้มีอาการเจ็บปวดใด ๆ หรือเป็นอันตรายกับชีวิต แต่หากเกิดขึ้นบนร่างกายเด็กจะขยายใหญ่ขึ้นตามอายุ อาจจะทำให้ดูไม่น่ามอง เสนจะมีชื่อเรียกไปตามลักษณะของสีที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าเนื้อที่งอกขึ้นมาเป็นสีแดง จะเรียกว่า เสนแดง ถ้าเป็นสีดำจะเรียกว่า เสนดำ 

เสน ในความเชื่อของชาวภาคใต้สมัยก่อนมีหลากหลายความเชื่อที่เชื่อถือในไสยศาสตร์และบรรพบุรุษ จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น กล่าวคือ

  1. เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผีที่เรียกว่า “ผีเจ้าเสน” หรือ “ผีโอกะแชง” ที่ทำหน้าที่เฝ้าเสาโรงโนรา 

  2. เชื่อว่าเกิดเพราะการทำเครื่องหมายของครูหมอโนราหรือตายายโนราที่ต้องการเอาเด็กคนนั้นเป็นโนราโดยผ่านทางผีโอกะแชง 

  3. เชื่อว่าเกิดจากชาติก่อนเคยเป็นโนรา แต่ไม่ได้ทำพิธีผูกผ้าใหญ่ให้เรียบร้อย ไม่สามารถทำพิธีต่าง ๆ ของโนราได้ เมื่อมาเกิดชาตินี้จึงต้องเป็นเสนเพื่อให้โนราเหยียบ

            นอกจากนี้เชื่อว่าเสนสามารถรักษาได้โดยใช้เหรียญตราโบราณที่มีรูปพระเจ้าแผ่นดินกดทับที่เสน พร้อมเสกคาถาอาคม แต่วิธีนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ไม่ให้เสนมีขนาดใหญ่ขึ้น และอีกวิธีหนึ่งคือการเหยียบของโนราเหยียบเสนในพิธีโนราโรงครู 

            พิธีกรรมเหยียบเสน พิธีกรรมเหยียบเสน จะทำพิธีโดยมโนราห์ใหญ่ที่ผ่านพิธีผูกผ้า ตัดจุก ซึ่งจะเริ่มด้วยการลงโรง กาศครู เชิญครู การรำสนุก ๆ และรำถวายครูพร้อม ๆ กัน จากนั้นจะรำ 12 ท่า 12 เพลง และ 12 บท หลังจากนั้นจะประกอบพิธีเหยียบเสน การตัดผมช่อผี การรำคล้องหงส์ และการรำแทงเข้ ตามลำดับ โดยพิธีกรรมเหยียบเสน ผู้ที่เป็นเสนหรือผู้ปกครองของเด็กที่เป็นเสนจะต้องจัดเตรียมเครื่องประกอบมาให้มโนราห์ใหญ่ ดังนี้

เครื่องบูชา

  1. หมากพลู

  2. ธูปเทียน

  3. ดอกไม้

  4. เงินบูชาครู (ตามกำหนด) 

อุปกรณ์ประกอบพิธี

  1. ขันน้ำหรือถาดใส่น้ำ

  2. หญ้าคา (เชื่อว่าเป็นหญ้าที่ศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เกิดจากน้ำอมฤตที่ตกลงมาจากสวรรค์ มีความเป็นอมตะ เชื่อว่าเป็นหญ้าเกิดมาพร้อมการตั้งฟ้าตั้งดินตั้งบ้านตั้งเมือง)

  3. หญ้าเข็ดมอน (เชื่อว่าเป็นหญ้าที่ใช้ในการปัดเป่าโรคภัยต่าง ๆ เชื่อว่าเป็นหญ้าเกิดมาพร้อมการตั้งฟ้าตั้งดินตั้งบ้านตั้งเมือง)

  4. รวงข้าว (เชื่อว่าเป็นตัวแทนของพระแม่โพสพ)

  5. ทรายท้องคลอง (เชื่อว่าท้องคลองเป็นที่อยู่ของพญานาค และเป็นตัวแทนของพระแม่ธรณีมหาเทวีแห่งแผ่นดิน)

  6. มีดโกน (เชื่อว่าเป็นของมีคม สามารถตัดขาดได้)

  7. ทอง (เชื่อว่าเป็นธาตุบริสุทธิ์ เป็นของมีค่า)

  8. หินลับมีด (เชื่อว่าหินมีความแข็ง สามารถเสริมคาถาได้)

  9. พระขรรค์ (เชื่อว่าเป็นอาวุธของกษัตริย์)

ขั้นตอนในพิธีกรรมเหยียบเสนจะมีทั้งสิ้น 7 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็เชื่อมโยงกับความเชื่อต่าง ๆ ดังนี้

1.การรับพานขันหมาก คือขั้นตอนการรับเครื่องสักการะครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองของเด็กจะมอบพานขันหมากให้กับโนรา จากนั้นโนราจะจุดเทียนทำพิธีการบอกกล่าวผีโอกะแชงให้ทราบว่าจะทำการรักษาโรค เป็นความเชื่อด้านการเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน

2. การลงอักขระ โนราจะลงอักขระขอมที่หัวแม่เท้าเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยด้วยพระขรรค์ ขณะลงก็มีการปลุกเสกเพื่อเพิ่มความขลังและสร้างความเชื่อมั่นในการรักษา เพราะเชื่อกันว่าอักขระขอม เป็นอักขระที่ศักดิ์สิทธิ์

3. การอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการรักษา โนราผู้ทำพิธีจะใช้จิตภาวนาระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสวดมนต์ให้กับพระรัตนตรัย ชุมนุมเทวดา ครูหมอโนรา เชื่อว่าเป็นการสร้างขวัญและให้กำลังใจกับโนราและผู้ป่วยที่รับการรักษา รวมไปถึงผู้ที่มาชมรอบ ๆ พิธีด้วย

4. การขับบทร้อง เนื้อหาในการขับร้องจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ และเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องของการกล่าวสรรเสริญ การเชิดชูเกียรติ และการใช้อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะมาช่วยรักษาโรคนี้

5. การรำประกอบ โดยพิธีการร่ายรำจะมีลักษณะแตกต่างออกไปตามแต่ละคณะ แต่ละสายตระกูลโนรา ท่ารำหลักมีด้วยกัน 3 ท่า คือ ท่าพรหมสี่หน้า (เชื่อว่าหมายถึงพระพรหมเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์) ท่าย่างสามขุมหรือท่าสามย่าง (เชื่อว่าเป็นจำนวนการย่างเท้าของพระนารายณ์) และท่าเหยียบเสน (เชื่อว่าพระพฤหัสบดีครองธาตุน้ำอยู่ทิศตะวันตก ท่ารำนี้เคลื่อนตัวจากทิศตะวันออกไปตะวันตก)

6. การใช้เท้าเหยียบ เพราะเชื่อว่าลักษณะเหมือนพระอิศวรใช้เท้าในการปราบสิ่งชั่วร้าย ปราบปรายยักษ์มูลาคนีที่มารังแกเหล่าเทวดาและมนุษย์ ใช้ตาไฟล้อมพระอิศวร พระองค์จึงใช้เท้าเหยียบหลังยักษ์มูลาคนีแล้วเสกให้น้ำออกจากหูมาดับไฟที่ยักษ์ก่อให้สิ้น 

7. การปัดเสนียดจัญไรและการให้พรผู้ป่วย โนราจะใช้รวงข้าวประพรมน้ำมนต์ลงไปที่เสน และให้พรผู้ป่วยพร้อมกับสวดคาถาเพื่อความเป็นสิริมงคล

ชาวบ้านเชื่อว่าการเหยียบเสนจทำให้เสนจะค่อย ๆ หายไป ถ้าไม่หายจะต้องมีการทำซ้ำอีกจนครบ 3 ครั้ง เสนก็จะหายไปในที่สุด

 

 

 

กานต์พิชชา บุรินทอง, และพชร สุวรรณภาชน์. (2562, 27-28 มิถุนายน). โนราเหยียบเสน : ความเชื่อโนรากับพิธีกรรมการรักษาเสนในปัจจุบัน [เอกสารนำเสนอ]. การประชุมวิชาการบัณฑิตศึกษาระดับชาติ
         สรรพศาสตร์ สรรพศิลป์ประจำปี2562, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ณัฐพงศ์ บัวคง, และประจักษ์ สายแสง. (2562). การเชื่อมโยงกับเบื้องบนในพิธีกรรมเหยียบเสน. วารสาร                                      มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 11(1), 177-180.
นักศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง. (ม.ป.ป.). โนราเหยียบเสน [เอกสารไม่มีการตีพิมพ์].                                        วิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง.

แชร์ 6127 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้