เรือน
ณัฐชา หนูคง
ความเชื่อเป็นสิ่งที่อธิบายยาก บางความเชื่อก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาเหตุผลมาประกอบได้ บางความเชื่อก็มีเหตุผลประกอบที่ไม่ค่อยเข้ากัน และบางความเชื่อก็มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งความเชื่อแต่ละอย่างก็เป็นความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน หมู่บ้าน บางที่มีความเชื่อเรื่องโชคลาง ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างความคิดปลูกฝังจิตใจให้ร่มเย็น
เรือน เปรียบเสมือนบ้านเกิด ที่ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งปลูกสร้าง แต่ยังเป็นที่ปลูกชีวิต ความคิด เป็นภูมิปัญญาที่เด่นชัดทางด้านวิถีการดำเนินชีวิต อาชีพ และสภาพแวดล้อม การปลูกเรือนของคนใต้เชื่อถือเรื่องโชคลางที่อิงมาจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของภาคใต้ ซึ่งทำให้ชาวใต้เชื่อว่าหากสร้างเรือนตามความเชื่อนี้ จะทำให้คนในบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่พบภัยอันตรายทั้งปวง
การปลูกบ้านเรือนของชาวใต้ตามความเชื่อถือเรื่องโชคลางที่เคยได้ยินกันมาอย่างยาวนานคือ ห้ามปลูกบ้านเรือนบนจอมปลวก ห้ามปลูกบ้านเรือนคร่อมตอไม้ และห้ามปลูกบ้านเรือนบนทางสัญจร เหตุผลสนับสนุนความเชื่อนี้คือ ทั้งจอมปลวก ตอไม้ และทางสัญจร มีเทวดาผีสางนางไม้อาศัยอยู่ การสร้างบ้านเรือนตรงจุดนั้นถือเป็นการบุกรุกสถานที่ จะทำให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลัง ทำให้ชีวิตมีอุปสรรค เจ็บป่วยต่าง ๆ นานา
สิ่งแรกที่สำคัญของการสร้างเรือน คือ การเลือกที่ดินที่เป็นมงคลโดยการพิจารณาสีของดิน ความเชื่อหนึ่งของชาวใต้คือให้เลือกพื้นดินที่มีสีอ่อน เช่น สีแดงหรือสีเหลือง ที่มีกลิ่นหอมรสฝาด นำมาเทลาดพื้นจากทิศใต้ลงสู่ทิศเหนือ เพราะจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเจริญด้วยลาภยศบริวาร อีกความเชื่อคือ เลือกพื้นดินที่สะอาด มีสีขาว สีเหลือง หรือสีแดง ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น เทจากพื้นที่สูงทางทิศตะวันตก แล้วค่อยลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก จะทำให้ผู้อาศัยมีความสุข ปราศจากโรคภัย และความเชื่อที่สาม ให้เลือกที่ดินที่พื้นที่รอบบ้านมีลักษณะราบเรียบเสมอกัน สะอาดและปราศจากกลิ่น จะเป็นทำเลที่ไม่ให้คุณหรือโทษ สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ ส่วนข้อห้าม คือ ห้ามปลูกบ้านตรงพื้นที่แฉะ สกปรก มีดินเลนสีดำ เพราะตัวบ้านอาจจะถูกกัดเซาะจากน้ำและเกิดการพังทลายได้ ส่วนดินที่มีหลากสี หรือมีกลิ่นไม่บริสุทธิ์ จริง ๆ แล้วเป็นส่วนของดินนา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควร ไม่ดีต่อการสร้างบ้าน เพราะน้ำจะระบายจากหน้าดินไปเรื่อย ๆ จนแห้งได้
เมื่อมีที่ดินที่เป็นมงคลเหมาะแก่การสร้างบ้านแล้ว การคัดเลือกเสาเรือนก็มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเสาเรือนเป็นโครงสร้างที่ต้องแบกรับตัวเรือนทั้งหมด ชาวใต้ให้ความสำคัญกับเสาเรือนเช่นเดียวกับชาวภาคอื่น ๆ กล่าวคือ เสาเอกต้องไม่มีตำหนิ ต้องมีตา ไม่ตกน้ำมัน จากนั้นนำมาตกแต่งด้วยผ้าแดงหรือด้ายดิบสามสี (แดง เหลือง เขียว) คาดติดไว้กึ่งกลางเสาพร้อมด้วยกล้ามะพร้าวและต้นอ้อย บางท้องถิ่นใช้รวงข้าว ขวดน้ำ กล้ามะพร้าว และหน่อกล้วยผูกติดกับเสา ในขั้นตอนทำพิธีลงเสาเอกของบ้าน
การปลูกเรือนนอกจากจะเลือกที่ดิน เลือกเสาที่เป็นมงคลแล้ว ยังมีข้อห้ามและคติอื่น ๆ ชาวใต้แต่ก่อนมีคติถือกันว่า ถ้าปลูกเรือนขวางหวัน หรือขวางตะวัน (หันข้างเรือนไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก) จะไม่ดี ผู้อาศัยจะอยู่ไม่เป็นสุข มักเป็นเหตุให้เสียตา แต่จะให้ปลูกลอยหวัน หรือปลูกตามตะวัน (หันข้างเรือนไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้) จึงจะเป็นมงคล ผู้อาศัยจะอยู่เย็นเป็นสุขสบายดี เหตุผลที่แท้จริงคือ การปลูกเรือนขวางตะวันทำให้แสงแดดส่องร้อนจัดตลอดครึ่งวัน และยังเป็นการต้านทางฝนทางลม ฝนจะสาดเข้าบ้านและยิ่งไปกว่านั้นอาจจะถูกพายุพัดพังบ้านได้ง่าย ถ้าหากพื้นที่บ้านคับแคบไม่สามารถปลูกเรือนไปตามดวงตะวันได้ ก็ต้องหาทางปลูกให้เฉียงตะวัน (อย่าหันข้างเรือนตรงกับตะวัน) ความเชื่อการปลูกเรือนนี้เป็นความเชื่อที่มีทั้งชาวภาคใต้และชาวภาคกลาง แต่ความเชื่อของชาวภาคเหนือจะปลูกเรือนขวางตะวัน เพราะมีความสอดคล้องกับทิศทางลม จะช่วยป้องกันลมหนาวเข้ามายังห้อง และยังสร้างแสงสว่างและความอบอุ่นให้กับตัวเรือนได้ นอกจากนี้ทุกภาคยังมีความเชื่อเรื่องบันได จำนวนบันไดที่ดีของเรือนไม่นิยมทำเป็นเลขคู่ เพราะถือว่าเลขคู่เป็นเลขเกี่ยวกับความตาย ชาวใต้จึงมักทำขั้นบันไดเป็นเลขคี่ คือ 1-3-5-7-9
ประพัฒน์ กุสุมานนท์. (2537). ชีวิตไทย ชุด ฮีตฮอยเฮา. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าวLegend Siam.(2562, 24 พฤษภาคม). เรือนไทยสี่ภาค. Facebook. https://bit.ly/3ItdIYPnjoy. (2552, 23 เมษายน). เรือน – คติความเชื่อของภาคใต้. https://bit.ly/3I5IfKJ
แชร์ 1606 ผู้ชม