นายกาเดร์ แวเด็ง

หน้าแรก ย้อนกลับ นายกาเดร์ แวเด็ง

นายกาเดร์ แวเด็ง
ที่มา Gotoknow
 

 

นายกาเดร์ แวเด็ง

ศิลปินแห่งชาติปี สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี 2536

 
 

1.ประวัติ

         นายกาเดร์ แวเด็ง1  เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2474 ที่ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรของนายแวสตอป่า และนางแวแยนะ แวเด็ง บิดามารดามีอาชีพขายน้ำชากาแฟในหมู่บ้าน นายกาเดร์กำพร้าบิดาตั้งแต่อายุได้ 4 ขวบ ต่อมาเมื่อมารดาได้แต่งงานใหม่กับนายแวอาลี แวอีแด จึงได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยนายกาเดร์ แวเด็งได้เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2556 
         จากชีวิตและผลงานของนายกาเดร์ แวเด็ง นับเป็นบุคคลที่มีความมานะพยายาม สนใจใฝ่รู้    เรื่องดนตรีด้วยตนเองมาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นบุคคลที่สังคมทั่วไปรู้จักในฐานะนักดนตรีพื้นบ้านและผู้สร้างผลงานศิลปะอันเป็นมรดกล้ำค่าที่ปรากฏต่อสาธารณชนมาโดยตลอด จนในที่สุดได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2536 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 

2.การศึกษา

          นายกาเดร์ศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา แล้วจำเป็นต้องออก      จากโรงเรียนไปเป็นเด็กเลี้ยงควายและรับจ้างลากไม้ฟืนรถไฟ ขณะที่ทำงานก็ร้องเพลงไปด้วย เพลงที่ร้องเป็นเพลงที่จำมาจากสถานีวิทยุของมาเลเซีย นายกาเดร์เลี้ยงควายไปจนกระทั่งอายุได้ 20 ปี ด้วยความจำเป็นเลิศสามารถจดจำเพลงได้มากมาย จึงได้สอนร้องเพลงให้เด็ก ๆ ในตอนค่ำ ได้ค่าตอบแทนเป็นบุหรี่และน้ำชากาแฟ ต่อมามีการซ้อมเต้นรองแง็งในตลาดนัดอำเภอรามัน จังหวัดยะลา เพื่อจัดแสดงในวันฮา-รีรายอ นายกาเดร์ได้มีโอกาสหยิบไวโอลินของนักดนตรีมาลองเล่นและสีเป็นเพลงไหว้ครูมวยได้โดยบังเอิญ จึงเกิดกำลังใจที่จะฝึกหัดเล่นไวโอลิน ต่อมาลูกชายนายอำเภอรามันซื้อไวโอลินไว้แต่เล่นไม่เป็น จึงชวนนายกาเดร์ไปเล่น นายกาเดร์เล่นได้และได้ฝึกอย่างจริงจัง จนได้ร่วมจัดตั้งวงดนตรีกับลูกชายนายอำเภอรามันเพื่อเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ โดยเครื่องดนตรีที่ใช้เล่น ประกอบด้วย ไวโอลิน กลองแจ๊ส บานา 2 ลูก (ตีแทนกลองสแนร์) ทั้งนี้เมื่อสีไวโอลินได้เก่งขึ้น จึงมีโอกาสไปสีไวโอลินให้กับลิเกฮูลูหลายคณะด้วยกัน เช่น คณะนิโนะ คณะอาแวแฆบา คณะเปาะกูมะ คณะลาลอ เป็นต้น   
          นายกาเดร์เริ่มเล่นดนตรีเป็นอาชีพที่จังหวัดนราธิวาส โดยเล่นในบาร์และมีโอกาสเข้าร่วม        แสดงกับคณะละครบังสะวันจากประเทศมาเลเซีย และตระเวนแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้และในประเทศมาเลเซีย ต่อมานายกาเดร์ออกจากคณะละครบังสะวันเพื่อเข้าพิธีแต่งงานกับนางสาวฟารีตะ และได้ย้ายครอบครัวจากอำเภอรามันมาอยู่ที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยยึดอาชีพช่างทำทองและเปิดร้านขายอาหาร ด้านดนตรีก็เล่นตามที่มีผู้เชิญให้ไปร่วมแสดง ซึ่งนายกาเดร์มีวงดนตรีเป็นของตัวเอง ชื่อคณะ "อีรามาอัสลี" โดยนายกาเดร์ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะและมีนักดนตรีในวง จำนวน 6 คน ซึ่งแต่ละคนก็ต่างมีอาชีพประจำ เช่น ช่างก่อสร้าง ประมง ขับรถรับจ้าง เมื่องานแสดงทุกคนก็จะมาแสดงโดยพร้อมเพรียงกัน 

3.การทำงาน 

- บรรเลงดนตรีประกอบการแสดงรองแง็งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2494

- บรรเลงดนตรีประกอบการแสดงรองแง็ง ซัมเป็งและนาฏยประดิษฐ์ชุดใหม่ ๆ หน้าพระที่นั่ง          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระบรมวงศานุวงค์ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

- บรรเลงดนตรีให้กับสมาคมอิสลาม จังหวัดนราธิวาส ทุกครั้งที่มีการแสดงรองแง็ง ซัมเป็งในโอกาสต่าง ๆ

- บรรเลงดนตรีประกอบการแสดงนาฎยประดิษฐ์ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

- บันทึกเสียงเพลงดนตรีประกอบการแสดงรองแง็งและนาฏศิลป์พื้นเมืองให้กับศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

- บรรเลงดนตรีในงานต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมประชุมธนาคารโลก ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

- บันทึกเสียงเพลงพื้นเมืองภาคใต้ลงในแผ่นดิสก์ในโครงการพิพิธภัณฑ์เสียงเพลงพื้นเมืองของ            มหาวิทยาลัยมหิดล

- ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็นผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2535

- ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) เมื่อปี พ.ศ. 2536

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “นายกาเดร์ แวเด็ง” (หน้า 300-302). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 1. (2542).                 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 2167 ผู้ชม

ศิลปินแห่งชาติ

องค์ความรู้