หมูฮ้อง

หน้าแรก ย้อนกลับ หมูฮ้อง

เจ้าของผลงาน กษมา คันธฬิกา Articles Students


“หมูฮ้อง”

กษมา คันธฬิกา1

          จังหวัด​ภูเก็ต​ เป็นเกาะแห่งอารยธรรม​ที่ใหญ่​ที่สุด​ใน​ประเทศไทย​ ตั้งอยู่บนพื้นที่ของภาคใต้​ โอบล้อมไปด้วย​วัฒนธรรม​ วิถีชีวิต​ความเป็นอยู่​จากรุ่นสู่รุ่น​ ดินแดน​แห่งอารยธรรม​ที่​รุ่งเรือง​จากอดีตมาถึงปัจจุบัน​ เล่าขานสืบต่อกันมาว่า​ แต่เดิมชาวจีนฮกเกี้ยน​อพยพ​เข้ามา​ตั้งถิ่นฐาน​อยู่ใน​จังหวัด​ภูเก็ต​และนำเอาวัฒนธรรม​ ประเพณี​เข้ามาด้วย​ ทำให้ภูเก็ต​กลายเป็นพื้นที่แห่งสังคม​พหุวัฒนธรรม​ มีการแลกเปลี่ยนวิถีชีวิต​ แลกเปลี่ยน​ความรู้​ แลกเปลี่ยน​ขนบธรรมเนียม​ จนทำให้ชนรุ่นหลัง​กลายเป็นผู้สืบทอดศิลปะ​และวัฒนธรร​มอันทรงคุณค่า​จากบรรพบุรุษ​มาจนถึงปัจจุบัน​

กำเนิดเกิดสูตรลับ​ ต้นตำรับ​หมูฮ้อง​ ของภูเก็ต

         หมูฮ้อง เมนูพื้นถิ่นของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในแถบภาคใต้บ้านเรา สาเหตุที่เรียกกันว่า “หมูฮ้อง” มาจากคำว่า ฮ้อง คือ การต้มให้เข้าเนื้อ เป็นสูตรดั้งเดิมของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาอยู่ที่เมืองภูเก็ต และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ปีนัง-สิงคโปร์ คนจีนเหล่านี้จะทำหมูฮ้องกินกันในงานไหว้ งานมงคล ทำครั้งหนึ่งเป็นหม้อใหญ่ ๆ ไว้ให้ลูกหลานตักกินได้เต็มที่ ปัจจุบันหลายคนเข้าใจผิดว่า หมูฮ้องกับหมูพะโล้เป็นอาหารเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงอาหารสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

หมูฮ้อง

 

ส่วนผสมที่ลงตัว​กับกรรมวิธี​ในห้องครัวสู่อาหารจานพิเศษ​

          วัตถุดิบของหมูฮ้องต้นตำรับจะต่างจากหมูพะโล้ตรงไม่ใส่ผงพะโล้ (อบเชย) ไม่ใส่ไข่ ไม่ใส่เต้าหู้ เน้นเฉพาะเนื้อหมูสามชั้น เคี่ยวกับซีอิ๊วและเมล็ดพริกไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนในการปรุงอาหารเมนูนี้ องค์ประกอบของหมูฮ้องจะมีเพียงน้ำขลุกขลิกต่างกับหมูพะโล้ซึ่งจะมีน้ำเยอะกว่าจนสามารถราดข้าวได้

‍          ส่วนเรื่องรสชาติอาหารนั้น หมูฮ้องจะออกรสเค็มนำหวานปลาย ต่างจากความหวานของน้ำหมูพะโล้ คนภูเก็ตดั้งเดิมจะรู้ว่ารสสัมผัสของหมูฮ้องที่ดีต้องละลายในปาก ยิ่งกว่าเนื้อวัววากิวเกรดพรีเมียม รสชาติประสานรวมกันของเนื้อหมูสามชั้นพอดีคำ ผสมเข้ากับเครื่องเทศ ทั้งกระเทียม พริกไทย รากผักชีตำละเอียดในครกหิน เพิ่มความเข้มข้นด้วยซีอิ๊วดำเค็ม-ดำหวาน กับน้ำตาลมะพร้าวคัดสรรจากท้องถิ่น กลิ่นหอมเย้ายวนจากก้นครัวที่ผสานรวมกันกับกลิ่นเครื่องเทศและความเข้มข้นของน้ำหมูฮ้อง ถ้าใครได้ลิ้มลองเป็นต้องถูกใจ และไม่อาจลืมเลื่อนรสชาติต้นตำรับระดับเมนูทองของจังหวัดภูเก็ต

 

ส่วนผสมและวัตถุดิบของหมูฮ้อง

ที่มา: https://babban.club/42839/

 

ซึมซับ​อารยธรรม​จากคนท้องถิ่น​ พร้อมยลยิลถึงความสำคัญ​ของ​ หมูฮ้อง

         หมูฮ้องถือเป็นอาหารคู่เมืองภูเก็ตมาเป็นเวลานาน ว่ากันว่าหากใครมาภูเก็ตแล้วก็จะต้องลิ้มลองทานหมูฮ้องต้นตำรับจากฝีมือคนท้องถิ่น เพื่อที่จะเข้าใจอาหารปุ๊นเต่ (อาหารพื้นเมือง) ของจีนฮกเกี้ยน

            คุณแต๋ว วิลัยพร เจ้าของร้านอาหารอร่อยดี ในจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตถือได้ว่าเป็นเมืองท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ มรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะความโดดเด่นด้านอาหารคาวและหวาน หนึ่งในนั้นคืออาหารพื้นเมืองท้องถิ่นอย่าง หมูฮ้อง เป็นเมนูที่ลูกหลานชาวภูเก็ตมักจะได้ทานในวันสำคัญของครอบครัวและเครือญาติ  ด้วยเมนูนี้เป็นอาหารที่มีความละเอียดและต้องใส่ใจในกระบวนการทำทุกขั้นตอน หลายบ้านจึงต้องให้ลูกหลานมาช่วยเตรียมของที่ใช้ในการปรุงอาหาร เช่น หั่นหมูสามชั้น ตำพริกไทยและกระเทียม ยืนเคี่ยวจนรสชาติเข้าเนื้อ ทำให้เมนูนี้กลายเป็นอาหารของครอบครัวในทุก ๆ บ้าน อีกทั้งในวันสำคัญ เช่น วันสารทเดือน 10 วันพระ วันมงคลต่าง ๆ ผู้คนมักจะรังสรรค์เมนูหมูฮ้องเพื่อนำไปทำบุญที่วัด เนื่องจากเป็นอาหารมงคลเพราะสืบต่อมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น แม้อาหารจานนี้จะเป็นเมนูที่ใช้เวลานานในการทำและมีกรรมวิธีที่ละเอียดอ่อน แต่ก็ยังคงเป็นอาหารจานสำคัญบนโต๊ะอาหารของครอบครัวมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมทั้งยังฝากถึงเยาวชน คนรุ่นใหม่ อยากให้รักษ์และสืบสานอาหารพื้นบ้านเอาไว้ให้คงอยู่ไปจนถึงคนรุ่นหลัง​ (วิลัยพร​ บุญ​รอด, 2565)

เอกลักษณ์​ไม่มีวันหยุด​นิ่ง​ ความร่วมสมัยคือความน่าหลงใหลของอารยธรรม​

          ความน่าหลงใหลประการหนึ่งของอาหารพื้นเมืองภูเก็ต คือ ความหลากหลายและความร่วมสมัย     แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ แต่อาหารชนิดนี้ก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมาประยุกต์ให้มีความโดดเด่นและมีความหลากหลายอยู่เสมอ เช่น การเพิ่มเติมใส่วัตถุดิบที่แตกต่างลงไปในเมนูทั้ง สับปะรด ผักชนิดต่างๆ หรือแม้แต่การแปรรูปอาหารเพื่อจำหน่าย เช่น กะหรี่ปั๊บไส้หมูฮ้อง ร้านวัฒนะพล กะหรี่ปั๊บภูเก็ต ย่านถนนเมืองเก่า แยกจุ๊ยตุ่ย เมืองภูเก็ต ความโดดเด่นด้านอาหารของท้องถิ่นแห่งนี้ ยังมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ พร้อมให้ทุกคนแวะไปเยี่ยมเยือนและลิ้มลองรสชาติอันน่าหลงใหลนี้

1นักศึกษาในรายวิชา 896-482 การฝึกปฏิบัติการภาษาไทย สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อ้างอิง

ไทยรัฐออนไลน์. หมูฮ้อง. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565 จากhttps://www.thairath.co.th/lifestyle/food/500037

Signature of Phuket. หมูฮ้องไม่ใช่หมูพะโล้. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://www.signatureofphuket.com/experts/team-signature-of-phuket

Share : แชร์ 5961 ผู้ชม 8 มีนาคม 2565

หมูฮ้อง
ห้องแสดงผลงาน