หนังสือบุดสังข์ศิลป์ชัย ฉบับภาคใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ หนังสือบุดสังข์ศิลป์ชัย ฉบับภาคใต้

หนังสือบุดสังข์ศิลป์ชัย ฉบับภาคใต้

 

หนังสือบุดสังข์ศิลป์ชัย ฉบับภาคใต้

วิทยา  บุษบงค์1

                

          สังข์ศิลป์ชัย2 เป็นวรรณกรรมที่แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งด้านความบันเทิงและวัฒนธรรมด้านอื่นๆ  ส่วนในภาคใต้นั้น สังข์ศิลป์ชัย น่าจะเป็นวรรณกรรมที่คัดลอกต้นฉบับมาจากภาคกลางในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยผู้คัดลอกซึ่งเป็นชาวภาคใต้ได้นำมาปรับเปลี่ยนเนื้อหาอันผสมผสานความเป็นภาคใต้ ทั้งในเรื่อง วิถีชีวิต ภาษาถิ่น รูปแบบเรื่องเสียงวรรณยุกต์และคำประพันธ์ที่แตกต่างจากภาคอื่น ซึ่งต้นฉบับปัจจุบันได้เก็บต้นฉบับไว้ ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

            คุณค่าที่ปรากฏหนังสือบุดสังข์ศิลป์ชัย ฉบับภาคใต้

          สังข์ศิลป์ชัยภาคใต้ เป็นวรรณกรรมแห่งเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับ มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลวิธีของผู้ประพันธ์ที่สะท้อนภาพทางสังคมและวัฒนธรรม ผ่านเรื่องราว ธรรมะย่อมชนะอธรรม ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นๆได้เป็นอย่างดี โดยผ่านตัวละครในการดำเนินเรื่องราว  

            1. สังข์ศิลปชัยแห่งพิธีกรรมโนราโรงครู

        สังข์ศิลปะชัย ฉบับภาคใต้นั้น ได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการแสดงพื้นบ้านโดยเฉพาะโนราโรงครู ซึ่งพิทยา  บุษรารัตน์ (2555 : 171) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สังข์ศิลปะชัยได้เข้ามามีส่วนที่เกี่ยวข้องกับโนราโรงครู ในเรื่อง ตำนานโนราโนราโรงครู โดยได้กล่าวถึง สังข์ศิลป์ชัยนั้นเป็นหนึ่งใน 12 ชาติของนางศรีมาลาซึ่งถือเป็นตำนานที่บอกเล่าสืบต่อกันมา โดยเชื่อว่า  ชาติที่ 1 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ มโนราห์ ชาติที่ 2 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ เมรี ชาติที่ 3 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อทิพย์เกสร ชาติที่ 4 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ อัมพันธุ์ ชาติที่ 5 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ รจนา ชาติที่ 6 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ จันทร์โครพ ชาติที่ 7 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ โมรา ชาติที่ 8 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ เกตุบุปผา ชาติที่ 9 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ สังข์ศิลป์ชัย ชาติที่ 10 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ ยอพระกลิ่น ชาติที่ 11 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ ไกรทอง ชาติที่ 12 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ ศรีมาลา นอกจากนี้ พิทยา  บุษรารัตน์ (สัมภาษณ์ 23/8/2563) ได้กล่าวถึง สังข์ศิลป์ชัย ซึ่งเป็นท่ารำหนึ่งในการรำถวายครูไว้ว่า การรำถวายครู หรือที่เรียกว่า “รำ 12 คำพลัด 12 บท” ไว้ว่า ในพิธีกรรมโนราโรงครู การรำถวายครู หรือ ที่เรียกว่า รำ 12 คำพลัด 12 บท บทต่าง ๆ ที่นำมารำเป็นเรื่องในวรรณคดีไทย 12 เรื่อง ได้แก่ พระสุธนมโนราห์ พระรถเสน พระลักษณาวงศ์ โคบุตร สังข์ทอง ดาราวงศ์ พระอภัยมณี จันทโครพ สินนุราช สังข์ศิลป์ชัย มณีพิชัย และไกรทอง

             2. ความเป็นตัวตนคนใต้ภาพสะท้อนผ่านสังข์ศิลป์ชัย

            สังข์ศิลป์ชัยภาคใต้ เป็นวรรณกรรมแห่งเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับ มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งที่เหนือธรรม-      ชาติ ซึ่งเป็นกลวิธีของผู้ประพันธ์ที่สะท้อนภาพทางสังคมและวัฒนธรรม ผ่านเรื่องราว ธรรมะย่อมชนะอธรรม ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นๆได้เป็นอย่างดี โดยผ่านตัวละคร  สังข์ศิลป์ชัย (เป็นคน) ท้าวสังข์ทอง (เป็นหอยสังข์) และท้าวสีโห (เป็นช้าง) ในการดำเนินเรื่อง ทั้งนี้ โดยเฉพาะสังข์ศิลป์ชัยภาคใต้นั้น สะท้อนภาพความเป็นคนภาคใต้ ได้อย่างที่มุมมองของผู้คัดลอกต้นฉบับซึ่งเป็นชาวภาคใต้ ซึ่งจะยกบทที่มีแง่มุมมองความเป็นคนใต้ไว้เป็นตัวอย่าง 3 บทประพันธ์ ดั่งเช่น การเอาตัวรอด ดวงดาว การทำนาย

             - การเอาตัวรอด

            พบในตอนสังข์ศิลป์ชัยต่อสู้กับพลยักษ์ก่อนจะรบกับกุมพัน แล้ไกรสัก แม่ทัพนายหนึ่งของยักษ์กุมพัน ได้ทำ    การแปลงกายเป็นเด็กเพื่อลวงตาสังข์ศิลป์ชัยแต่ก็ไม่รอดพ้นภัยสุดท้ายก็ถูกพระสังข์ศิลป์ชัยสังหาร ดังนั้นการเอาตัวรอดจากสิ่งที่อุบัติขึ้นเฉพาะหน้านั้น คนภาคใต้เป็นคนที่ฉลาดมีไหวพริบรู้เขารู้เราสามารถที่จะแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ เช่น ๏พระรู้กลยักษา  ฉวยหวดมาหัวขาดพลัน  สังข์ศิลป์ชัยรู้ว่าพวกยักษ์กุมพันที่เคยพานพบมีกลวิธีที่แยบยล แม้จะแปลงเป็นเด็ก เพื่อที่จะพรางตา แต่สังข์ศิลป์ชัยก็ยังจำได้ จึงได้ลงมือสังหารก่อนที่ยักษ์กุมพันจะมาสังหารตน

             - ดวงดาว

          ดวงดาวและคำทำนาย ในตอนสังข์ศิลป์ชัย นางเกสรสุมนทและนางสีสุพัน พบกลุ่มดวงดาวที่ปรากฏใน        ระหว่างที่ทั้งสามเดินทางออกจากเมืองยักษ์ ชาวภาคใต้มีความเชื่อเรื่องดวงดาวและคำทำนายมาตั้งแต่อดีตจนมีการบันทึกเรื่องดวงดาวและคำทำนายไว้ในหนังสือบุด ซึ่งจะบอกถึงลักษณะของดาวและคำทำนายไว้พร้อม เห็นได้จากพวกโจรในอดีตในภาคใต้เมื่อจะทำการปล้นที่ไหนจะต้องดูดาวก่อนว่าจะปล้นหรือไม่ปล้นทรัพย์บ้านนี้ อันหมายถึงคำทำนายที่เกิดขึ้นจากการดูดวงดาว ยกบางส่วนของคำประพันธ์ เช่น เห็นดวงดาวพอม(พร้อม) ดาวไก่เข้าล้อม  ปากพอมมากมาย  ดาวปูชัชวาล  อาจารย์ท่านทาย  ปีนี้ดีร้าย  ข้าวแพงนักหนา  ซึ่งจากลักษณะคำทำนายที่เกิดขึ้นหมายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมชาวภาคใต้ในยุคนั้น ดังนั้นดวงดาวและคำทำนายจึงเป็นความเชื่อที่ภาพสะท้อนแห่งวิถีการดำเนินชีวิตและการระวังภัยของชาวภาคใต้

 

ศักยภาพเชิงสร้างสรรค์

             อาจกล่าวได้ว่าสังข์ศิลป์ชัยภาคใต้ เป็นวรรณกรรมที่ สะท้อนความเป็นอยู่และวิถีชีวิตในสังคมของยุคนั้น ๆ      ผ่านตัวละคร ทำให้เห็นมุมมอง ในแง่ต่าง ๆ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ตามแนวคิดของผู้ประพันธ์ ทั้งนี้สังข์ศิลป์ชัยภาคใต้ สามารถนำมาสู่กระบวนการจัดทำเชิงสร้างสรรค์เป็นหนังสือ การ์ตูน เพื่อการอ่านประกอบสำหรับเด็กในช่วงชั้น ประถมต้น  ในวิชาภาษาไทยหรือจริยธรรม หรือ การพลิกฟื้นให้ตัวละครในเรื่องสังข์ศิลป์ชัยภาคใต้ไปโลดแล่นผ่านตัวหนังตะลุง โดยผ่านช่างแกะหนังและนายหนังตะลุงอีกครั้งเพราะในอดีตหนังตะลุงมีการนำเรื่องสังข์ศิลป์ชัยมาทำการแสดง แต่ในปัจจุบันได้หายไปจากหน้าจอหนังตะลุง ทั้งนี้ สังข์ศิลป์ชัยภาคใต้อาจจะลืมเลือนไปแล้วในสังคมภาคใต้ในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าวรรณกรรมชิ้นนี้เมื่อได้หวนคืนกลับสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ แล้วทำให้เกิดการต่อยอดจนเกิดเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการสร้างรายได้ให้เกิดมูลค่าแห่งชุมชนภาคใต้  

 

 

 

1นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

2พิทยา บุษรารัตน์. (2555). โนราโรงครูตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์  ศศ.ม ไทยคดีศึกษา                                มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา.

  พิทยา  บุษรารัตน์. เป็นผู้ให้สัมภาษณ์,  วิทยา  บุษบงค์  เป็นผู้สัมภาษณ์, โรงแรมสมายพาร์ค 589 หมู่ที่ 5 ถนนอ้อมค่ายวชิราวุธ                ปากพูน เมืองนครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แชร์ 1230 ผู้ชม

ภาษาและวรรณกรรม

องค์ความรู้