สีสันลูกปัดโนรา

หน้าแรก ย้อนกลับ สีสันลูกปัดโนรา

สีสันลูกปัดโนรา

ที่มา The Cloud

สีสันลูกปัดโนรา

                                                                           สิริพร  รอดเกลี้ยง1

                                                                 

          โนรา เป็นการแสดงของชุมชนตามท้องถิ่นใกล้ไกล ในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ        เอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้เกิดความสะดุดตาหรือรู้จักอย่างแม่นยำของความเป็นโนรา คือ

         “เครื่องแต่งกายชุดลูกปัดที่มีสีหลากหลาย  มีวิธีผูกมัดร้อยที่ละเม็ดจนเป็นรูปตัวเสื้อ  และสร้อยระย้าพลิ้วไหวสะดุดตา  ทำให้โนรามีความโดดเด่นแตกต่างไปจากการแสดงนาฏศิลป์ชุดอื่นๆ ของไทย  แต่เดิมผู้แสดงโนราเป็นชาย ในการร่ายรำโนราไม่สวมเสื้อสวมแต่เทริด  และเครื่องประดับตามตำนานที่เป็นเครื่องทรง เชื่อมต่อกันด้วยสายผ้าที่ตกแต่งด้วยลูกปัด และสวมผ้านุ่งทับกางเกงความยาวใต้เข่า  นุ่งเป็นโจรรั้งสูงแนบเข้ากับลำตัวผู้รำ  ตกแต่งด้วยผ้าห้อยด้านหน้าและข้าง  (ธรรมนิตย์  นิคมรัตน์, 2549 น.1)

          ได้วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ประกอบกับได้มีคณะโนราเพิ่มมากขึ้น จึงประกวดประชันกันในทุก ๆ ด้าน ทั้งความสามารถในการรำ ที่สำคัญประการหนึ่ง คือการแต่งกายต้องสวยงาม อย่างไรก็ตาม ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงโนรา คือ เครื่องทรงโนราเป็นเครื่องแต่งกายใช้แทนเสื้อหรือที่เรียกว่า เครื่องลูกปัด สาเหตุที่เรียกเครื่องลูกปัด เพราะได้มีการนำลูกปัดสีเม็ดเล็กๆ หลายๆสีมาร้อยกับเชือกให้เป็นลวดลาย เช่น ลายลูกแก้วหรือลายข้าวหลามตัด ลายดอกดวง เป็นต้น

          ดังที่กล่าวมาข้างต้น เครื่องแต่งกายโนราส่วนใหญ่ทำจากลูกปัด เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีต้นกำเนิดมาจากพื้นที่    ภาคใต้ เมื่อสมัยก่อนนั้นเครื่องแต่งกายโนราทำมาจากกระดูกของครูที่ล่วงลับไปแล้วตามคณะโนราต่าง ๆ และมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ กระทั่งใช้เปลือกหอย ลูกแก้ว และกระทั่งลูกปัดในที่สุด เป็นการคิดค้นที่เหมาะสมของคนในพื้นที่ โดยใช้ลูกปัดร้อยเป็นสีเป็นลายมีดอกดวง ใช้สำหรับสวมลำตัวท่อนบนแทนเสื้อ ประกอบด้วยชิ้นสำคัญ 5 ชิ้น สำหรับสวมทับบนบ่าซ้าย-ขวา รวม 2 ชิ้น  ปิ้งคอสำหรับสวมห้อยคอด้านหน้า-หลัง คล้ายกรองคอ รวม 2 ชิ้น พานอก ร้อยลูกปัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้พันตัวตรงระดับอก บางที่เรียกว่า พานโครงหรือรอบอก เครื่องลูกปัดดังกล่าวนี้ใช้เหมือนกันทั้งตัวยืนเครื่องและตัวนางรำ การร้อยลูกปัดชุดโนราในปัจจุบัน ผู้ที่ร้อยชุดลูกปัดเป็นตัวเสื้อลวดลายต่าง ๆ ก็คือศิลปินโนรา หรือลูกหลานโนราที่ใกล้ชิดกับศิลปินโนรา

         ในด้านการใช้ลูกปัด เครื่องลูกปัดโนราต้องมีสีสันฉูดฉาดแตกต่างกัน ทั้งหมดคือความงามของชุดโนราอย่าง    แท้จริง ดังคำกล่าวที่ว่า “การใช้สีตัดกันเป็นสิ่งสวยงามของชุดโนรา  บางคนมองว่าแปลก  ตลก ใช้เขียวแดง ในการตัดกัน แต่คือสิ่งสวยงามของชุด ในด้านของคนทำชุดโนราจะมีความลึกซึ้งทางด้านจิตใจเป็นอย่างสูง เพราะชุดโนราเปรียบเสมือนหัวใจของผู้รำ เสมือนเป็นการร้อยรัดตัวตน เพราะกว่าจะร้อยลูกปัดได้แต่ละเม็ด ต้องใช้ระยะเวลาในการทำนานและประณีต พิถีพิถันสูง เนื่องจากชุดเครื่องโนราต้องมีลวดลายบนชุด และลวดลายนั้นไม่ตายตัว คนทำเครื่องโนราจะต้องคิดค้นลายขึ้นมาเอง เพื่อไม่ให้ซ้ำกับชุดโนราคณะอื่น ด้วยเหตุนี้โนราจะไม่นิยมขายเครื่องกิน เพราะของบางอย่างไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้

          สำหรับปัจจุบัน เครื่องแต่งกายโนราสร้างสรรค์ด้วยเครื่องลูกปัดที่ออกแบบพัฒนาขึ้นใหม่เนื่องจากมีผู้หญิง      แสดงโนรามากขึ้น ศิลปินโนราได้ออกแบบเครื่องลูกปัดให้สวยงามใช้ปกปิดร่างกายส่วนบน และพัฒนาตกแต่งให้เหมาะสมกับการร่ายรำ เครื่องลูกปัดได้รับความนิยมสูง เพราะช่วยขับเน้นการร่ายรำในจังหวะที่รวดเร็วให้มีความสวยงามโดดเด่น การถักทอลูกปัดเดิมใช้ลายข้าวหลามตัดและเป็นลูกปัดที่มีสีสัน เหลือง แดง น้ำเงิน ขาว เขียว          โนราสามารถออกแบบลวดลายและสีสันได้เอง เพื่อให้การแสดงของตนมีความแตกต่าง มีโทนสีที่งดงามตามที่ตนชอบ หรือเหมาะกับโอกาสที่แสดง (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ,2563 น.134)

         การเลือกใช้ คัดสรร วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านได้หลายอย่าง เช่น      สะท้อนให้เห็นความชาญฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นองค์ประกอบของชุดโนรา ซึ่งชาวบ้านจะมีความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิดเป็นอย่างดีแล้วจึงนำมาดัดแปลง เป็นการทำด้วยมืออย่างแท้จริงและไม่ใช้เครื่องจักรแต่อย่างใด ทำให้เกิดความประณีตและสร้างสรรค์ลวดลาย การไล่สีของชุดเครื่องลูกปัดมีการคิดและออกแบบเฉพาะ เนื่องจากชุดเครื่องลูกปัดนั้นได้รับอิทธิพลมาจากโนราชาตรี จนกลายมาเป็นชุดเครื่องลูกปัดของโนรา และการสร้างสรรค์ลวดลายในแต่ละชุดจะไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตชุดโนรา

 

ที่มา Karen Bangyabyiew

 

1 นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

แชร์ 2086 ผู้ชม

ดนตรี การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน

องค์ความรู้