หล้วง : ภูมิปัญญารักษาดุลธรรมชาติ

หน้าแรก ย้อนกลับ หล้วง : ภูมิปัญญารักษาดุลธรรมชาติ

หล้วง : ภูมิปัญญารักษาดุลธรรมชาติ

 

  หล้วง : ภูมิปัญญารักษาดุลธรรมชาติ

 

สุรศักดิ์ สีเพชร1

 

ลักษณะและการใช้ประโยชน์

     หล้วง เป็นชื่อของเครื่องมือจับสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ มีความยาวประมาณ 50      เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และความหนาประมาณ 5 เซนติเมตร นับว่ามีขนาดเล็ก แต่เพียงพอสำหรับการจับสัตว์ที่มีขนาดความยาวจากปากถึงปลายหาง ตั้งแต่ 20-40 เซนติเมตร สามารถผลิตขึ้นจากวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรืออาจจะผสมผสานวัสดุที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้สอยตามยุคสมัย หล้วงผลิตขึ้นจากวัสดุ 2 อย่าง อย่างแรก ใช้ไม้ไผ่ จำนวน 4 ท่อน ประกอบด้วย

           (1) ไม้คันยัก มีลักษณะทรงกระบอกปลายเรียว บากร่องโคนแหลม ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร

           (2) กระบอกบ่วง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร

           (3) ไม้ค้ำสลัก มีลักษณะทรงกระบอก ส่วนปลายแหลม โคนบากร่อง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร

           (4) สลัก มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบน ส่วนกลางบากร่องโค้ง ตามลักษณะกระบอกไม้ไผ่ ปลายมนลบเหลี่ยม โคนบากร่องรอบ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร หนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร

            อย่างที่สอง ใช้เถาวัลย์หรือเชือกไนล่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร

      เครื่องมือชนิดนี้ใช้สำหรับดักแย้ ผลิตขึ้นโดยผู้มีความเข้าใจทางด้านลักษณะภูมิศาสตร์ จังหวะของเวลา      พฤติการณ์ของสัตว์ในพื้นที่ ลักษณะแหล่งที่อยู่ที่กิน ร่องรอย และการนำไปใช้ประโยชน์หลังจากที่จับมาได้ การสร้างเครื่องมือจับสัตว์ทุกชนิดย่อมผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมายาวนาน จนมาถึงจุดหนึ่งที่ลงตัว ก่อเกิดภูมิปัญญาเครื่องมือจับสัตว์ในหลายรูปแบบ ปรับเปลี่ยนไปตามเจตนาเพื่อสนองการใช้ชีวิตตามสภาพสิ่งแวดล้อม

           โดยปกติแล้วการจับแย้มีหลายวิธี จะสร้างเครื่องมือโดยวิธีใดขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน บ้างก็ขุดเอา บ้างก็ดักบ่วง ดักกัด (ตาข่าย) แต่การใช้ หล้วง เป็นการจับสัตว์นับว่าเป็นวิธีที่รักษาความสมดุลธรรมชาติ หมายความว่า ไม่เป็นการเอาเปรียบสัตว์ จับเฉพาะตัวที่ต้องการในจำนวนน้อยเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร ตัวต่อตัว อันต่ออัน เพราะหนึ่งอันจะจับได้ตัวเดียว ในความเป็นจริงแล้วการใช้เครื่องมือลักษณะนี้ ส่วนมากแล้วจะได้ผล แต่ก็มีเหมือนกันในจำนวนน้อยที่พลาดดักไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มันแอบอยู่ในรู อาจจะกล่าวได้ว่า “แสนรู้” รู้จักสังเกต มีความระแวดระวังในสิ่งแปลกปลอม หรือมันเรียนรู้วิชาการเอาตัวรอด ต่อให้ใช้เครื่องมือดักไว้ก็จับมันไม่ได้ อาจจะเป็นความสามารถเฉพาะตัว ประสบการณ์ก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะหากดักมัน มันก็จะรู้ แล้วจะใช้ความพยายาม มันจะขุดรูใหม่ใกล้ ๆ กับปากรูเดิมที่วางกับดักไว้ ทำให้มันรอดจากการโดนจับในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่ามันเอาตัวรอดได้ด้วยการสละรูเดิม

 

คุณค่าและความสำคัญ

          หล้วง นับเป็นมรดกแห่งปัญญาที่บันทึกและถ่ายทอดวิธีคิด การสร้างสรรค์ผสมผสานศาสตร์และศิลป์อย่าง      ลงตัว ที่สะท้อนวิถีการดำรงชีวิต สะท้อนภูมิปัญญา สะท้อนมิติธรรมชาติ ฤดูกาล วงจรชีวิต สภาพแวดล้อม

        เครื่องมือจับสัตว์ชนิดนี้จะใช้ประโยชน์ได้ก็ต้องรู้จักอุปนิสัยของสัตว์ ช่วงเวลา อาหาร และที่อยู่อาศัย คือ      สังเกตที่อาศัยของสัตว์ โดยเฉพาะรู ลักษณะปากรู ร่องรอย หากปากรูมีร่องรอยเข้าออก มีเศษดินกลบอยู่ สันนิษฐานว่าอาศัยอยู่ในรูขณะนั้น หรือไม่ก็อาจจะมีสิ่งคุกคามหรือศัตรูมารบกวน ทำให้ตกใจ เอาตัวรอด หนีออกทางรูอีกด้านหนึ่ง เรียกว่า “รูเหย” หรือรูหนีภัย แต่หากพบว่าปากรูไม่มีเศษดินกลบอยู่ มีร่องรอยการออกจากรู แสดงว่าออกหากิน แต่ลักษณะปากรูที่ไม่มีเศษดินกลบอยู่ ก็ไม่ใช่คำตอบว่าไม่อยู่ในรูเสมอไป เพราะระหว่างการหากินหากพบเห็นศัตรู มันก็จะวิ่งเข้ารูอย่างรวดเร็วเพื่อให้ตัวมันปลอดภัย จึงไม่ได้คุ้ยเขี่ยดินปิดปากรูนั่นเอง แต่เมื่อมันรู้สึกได้ว่าปลอดภัย มันก็จะออกมาเอาเศษดินปิดปากรูตามปกติ หรือไม่ก็ออกหากินต่อไป จุดสังเกตอีกประการหนึ่ง ในสภาวะปกติสัตว์ชนิดนี้จะไม่ชอบออกหากินในยามที่มีฝนตก มันจะกลัวฝนกลัวน้ำ เพราะมันว่ายน้ำไม่เป็น ไม่ขึ้นต้นไม้ อาหารของของสัตว์ชนิดนี้ ได้แก่ แมลง มด ปลวก มันจะไม่กินอาหารที่เป็นซาก เมื่อมนุษย์เรียนรู้ธรรมชาติของมันจึงไม่เป็นการยากที่จะจับนำมาประกอบอาหาร

       หลักการข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ทุกสรรพสิ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การปรับตัวให้ผสมกลมกลืนเข้ากับ    ธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าและอยู่รอดอย่างยั่งยืน แต่ฐานคิดว่าหากสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เหนือธรรมชาติสิ่งนั้นจะพบจุดจบแห่งความไม่ยั่งยืน

 

 ศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์

         เมื่อธรรมชาติสร้างมนุษย์ขึ้นมา มนุษย์ย่อมมีความเข้าใจธรรมชาติ เพื่ออยู่ร่วมกันกับธรรมชาติจากกาลเวลาที่เป็นบททดสอบความอยู่รอดในหลาย ๆ มิติ เพื่อสนองตอบความเป็นอยู่ ทำให้สร้างเครื่องอำนวยความสะดวก มีองค์ความรู้จากธรรมชาติ มีภูมิรู้ในการดำรงชีวิต คิดค้นกลไกต่าง ๆ จากธรรมชาติสู่ธรรมชาติ ทำให้สัตว์หลายชนิดถูกรุกราน บางชนิดสูญพันธุ์ บางชนิดเกือบสูญพันธุ์ อาจจะมาจากหลาย ๆ ปัจจัย หลายเหตุผล แม้ปัจจุบันเหลือน้อยมากแทบจะสูญพันธุ์ ไม่ค่อยได้พบเห็นโดยเฉพาะในพื้นที่ ๆ เคยมี เป็นเพราะธรรมชาติสร้างมนุษย์มามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติบางอย่าง แต่ก็ล้วนเป็นภูมิปัญญา การพัฒนามาคู่กับการสูญเสีย แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธบนความสมดุล ด้วยการชดเชย ทดแทน ทางด้านสุนทรียภาพ ทัศนียภาพ จึงถอดเอาแนวความคิดและรูปทรงของ “หล้วง” มาแต่งแต้มภูมิทัศน์เชิงอนุรักษ์หรือเชิงสัญลักษณ์ นำไปสร้างประติมากรรมกลางแจ้ง เสาไฟ เพื่อตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ พร้อมกันนั้นก็มอบคืนพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์แย้ หรือไม่ก็ทำองค์ความรู้ด้านกลไกมาออกแบบในเชิงอนุรักษ์          การสร้างประติมากรรม “หล้วง” เป็นการคิด ทำนอง “หนามยอก เอาหนามบ่ง” อาจเป็นเพราะหล้วงเป็นเครื่องมือจับแย้ เลยต้องใช้หล้วงมาทำเป็นประติมากรรม เจตนาเพื่อสะท้อนภูมิปัญญา สะท้อนวิถีชีวิต และที่สำคัญเพื่อเป็นการอนุรักษ์แย้ ฉะนั้นจำเป็นต้องเลือกพื้นที่ เขตที่อยู่อาศัยเดิมหรือใกล้เคียง ฟื้นฟูธรรมชาติ จัดให้หล้วงทำหน้าที่บรรยายในตัวมันเอง ประมาณว่าถ้ามีหล้วงต้องมีแย้ ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เห็นกันต่อไป

 

1นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

แชร์ 1313 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้