เรื่องเล่าผ่านผ้า: วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และนวัตกรรม

หน้าแรก ย้อนกลับ เรื่องเล่าผ่านผ้า: วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และนวัตกรรม

เรื่องเล่าผ่านผ้า: วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และนวัตกรรม

 

เรื่องเล่าผ่านผ้า: วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และนวัตกรรม

รศ. จุรีรัตน์ บัวแก้ว

 

         เรื่องเล่าผ่านผ้านี้ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ เพราะผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่ใช้ในการดำรงชีวิต      ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน วัฏจักรของชีวิตมนุษย์ผูกพันอยู่กับการใช้ผ้าตั้งแต่เกิดจนตายมีการใช้ผ้านานาชนิดในแต่ละช่วงวัยนับตั้งแต่การใช้ผ้าในการนุ่งห่ม งานบวชเรียน เป็นของหมั้น งานแต่งงาน เป็นเครื่องราชบรรณาการ และวันสุดท้ายของชีวิต แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะเกี่ยวข้องกับการใช้ผ้าแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละชนเผ่าที่กำหนดให้มีการใช้ผ้าหลากหลายชนิด ผ้าเหล่านี้จึงเป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของผู้สวมใส่หรือเจ้าของผ้าที่สามารถสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้น เปรียบเสมือนกระจกเงาที่ฉายภาพสังคมมนุษย์ที่รังสรรค์จากภูมิปัญญาและนวัตกรรมการทอผ้าผ่านการคัดสรรของสังคมตามกาลเวลาเรื่อยมาตราบจนปัจจุบันมนุษย์ก็ยังต้องผูกพันกับผ้าตลอดเวลา

 

         ในฐานะที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้จึงนำเสนอผ้าของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นตัวแทนในการสะท้อนเรื่องราวของสังคมภาคใต้ในอดีต ที่มีการใช้ผ้าหลายชนิดในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าการะดูวอ ผ้าการะตีฆอ ผ้าการะป๊ะห์ ผ้าปาลิกัต ผ้าแอแจ๊ะ ผ้าแปลก๊ะ ผ้าปือแฆ ผ้าสะมารินดา ผ้าซอแก๊ะ ผ้าปลางิง ผ้าลีมา(จวนตานี) เป็นต้น ผ้าเหล่านี้มีทั้งที่ทอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวไทยในภาคใต้ในสมัยโบราณได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีนและอินเดีย ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เขมร เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากอิทธิพลของผ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาปรากฏอยู่บนผืนผ้า นับตั้งแต่วัสดุในการผลิต เช่น เส้นใยไหมที่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน ลวดลายและสีสันล้วนได้รับอิทธิพลทั้งจากอินเดีย จีน ผ่านเขมร อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ช่างทอผ้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นำเอาเทคนิคการผลิตจากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับเทคนิคการทอแบบดั้งเดิมกลายเป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นภาคใต้ที่มีความคล้ายคลึงกับประเทศเหล่านั้น ความแตกต่างของผ้าในแต่ละประเภทย่อมสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวไทยในภาคใต้ผ่านผืนผ้าได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เรื่องเล่าผ่านผืนผ้าจึงเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์ที่สามารถไขคำตอบในวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และภูมิปัญญาของบรรพชนที่ปรากฏบนผืนผ้าตลอดจนปรับเปลี่ยนนวัตกรรมในการถักทอผืนผ้าเพื่อให้ผ้ายังคงตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตราบจนปัจจุบัน

         ชาวไทยในภาคใต้สมัยโบราณทุกครอบครัวทอผ้าใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวันโดยมี การแบ่งลักษณะของผ้าที่ใช้ตามสถานภาพของคนในสังคม กล่าวคือ ชนชั้นสูง และผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ใช้ผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายพื้นเมืองและผ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งเป็นทั้งผ้าห่มหรือผ้าแถบ การห่มจะจับจีบที่ร่องอก ผ้านุ่งเป็นผ้าถุงยาวกรอมเท้าโดยทบจีบไว้ด้านหน้าข้างใดก็ได้ หรืออาจนุ่งทบจีบทั้งสองข้างเข้าหากันไว้ด้านหน้าม้วนพับขอบตรงสะดือ ส่วนชนชั้นล่างหรือสามัญชนใช้ผ้าฝ้ายลายตารางในการนุ่งและห่ม ลักษณะการนุ่งและห่มเป็นแบบเดียวกัน การแต่ง-กายแบบนี้เกิดจากสภาพอากาศร้อน นอกจากนี้ยังมีการใช้ผ้าในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ผ้าขึ้นเปลเด็กในวันทำขวัญเดือน ผ้าในพิธีมาโซะยาวี ผ้าสำหรับการละหมาด ผ้าห่อขันหมาก ผ้าชนิดต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในงานแต่งงาน ผ้าในพิธีกรรมรักษาผู้ป่วย ผ้าในพิธีตัดไม้ข่มนาม1 ก่อนที่ทหารจะออกสู่สนามรบ โดยนิยมใช้ผ้าไหมของบรรพบุรุษที่ตกทอดสืบต่อกันมาในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต นอกจากนี้ผ้ายังมีคุณค่าในการใช้เป็นเครื่องบรรณาการจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังราชอาณาจักรสยาม เป็นต้น และผ้าที่ใช้ในวันสุดท้ายของชีวิตเป็นผืนผ้าสีขาว ส่วนผ้าคลุมศพใช้ผ้าที่ตกทอดต่อ ๆ กันมา บนผืนผ้าจะปักเป็นภาษาอาหรับเกี่ยวกับพระนามของพระเจ้า จะเห็นได้ว่าตลอดชีวิตของมนุษย์ต้องใช้ผ้าเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ้าเหล่านี้จึงบอกเล่าความเป็นมาของบรรพชนและเจ้าของผ้าได้ชัดเจน ทำให้สามารถสืบสาวเรื่องราวในอดีตอันรุ่งโรจน์ของสังคมชายแดนใต้ได้

          อีกประการหนึ่ง ผ้าทอแต่ละผืนล้วนมีที่มาที่แตกต่างกัน กว่าจะเป็นผืนผ้าได้ต้องผ่านกระบวนการหลาย        ขั้นตอนนับตั้งแต่ การปลูกต้นหม่อนเพื่อนำมาเลี้ยงตัวหนอนที่ใช้ผลิตเส้นใยไหม การปลูกฝ้าย การดีดฝ้าย การล้อฝ้าย การเข็นฝ้าย ซึ่งเป็นการเตรียมเส้นใยสำหรับทอผ้า จากนั้นจึงนำเส้นใยไปมัดเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายแล้วนำไปย้อมสีตามความต้องการ ลวดลายเหล่านี้เกิดจากจินตนาการของช่างทอผ้าในการนำสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายผ้าหรืออาจได้รับอิทธิพลจากผ้าทอของต่างประเทศนำมาผสมกลมกลืน ปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นและรสนิยมของผู้บริโภค กระบวนการผลิตผ้าทอจึงสะท้อนให้เห็นบทบาทพลังของแม่หญิง ได้แก่ ยาย ย่า แม่ และญาติผู้ใหญ่ที่ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เป็นผู้ทอผ้าให้กับตนเองและครอบครัว และถ่ายทอดกรรมวิธีในการทอผ้าด้วยการบอกเล่า ปฏิบัติให้ดูเพื่อส่งต่อประสบการณ์นี้ไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน ในขณะที่ฝ่ายชายรับหน้าที่จัดทำอุปกรณ์ในการทอผ้าชนิดต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในการสร้างอุปกรณ์เช่นกัน กระบวนการทอผ้าจึงมีความละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน ต้องอาศัยความฉลาดในการจดจำลวดลายให้ได้มากที่สุด แม่หญิงที่มีทักษะ มีฝีมือประณีต สามารถทอผ้าได้สวยงามจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หญิงเก่ง เป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม เพราะมีความสามารถในการทอผ้าให้กับคนในครอบครัวได้ ผ้าทอจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ชายใช้เป็นเกณฑ์อย่างหนึ่งในการเลือกคู่ครองของตน เรื่องราวของผ้าทอจึงสะท้อนโลกทัศน์ของคนในสังคมในการให้ความสำคัญกับบทบาทแม่หญิงผ่านผืนผ้านานาชนิดที่สะท้อนภูมิปัญญาของช่างทอผ้าในสมัยโบราณ

         ลวดลายบนผืนผ้าของชาวไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมผสมผสานกับ      จินตนาการของช่างทอผ้าทำให้เกิดเป็นลวดลายสวยงาม เช่น ลายดวงดาว ลายคลื่น เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้อมรอบไปด้วยทะเล อาชีพหลักอย่างหนึ่ง คือ การออกหาปลาในท้องทะเลโดยเฉพาะในยามค่ำคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาวพราวแสงระยิบระยับ ทำให้ช่างทอผ้าเกิดแรงบันดาลใจสร้างลวดลายดวงดาวและลายคลื่นให้ปรากฏบนผืนผ้า และยังมีลายตะเกียงทองเกิดจากในสมัยโบราณยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในยามค่ำคืนต้องใช้ตะเกียงทองเหลืองจุดให้ความสว่างในยามค่ำคืน แสงสว่างที่เกิดจากตะเกียงทองมีสีเหลืองส่องสว่างมองดูสวยงาม ทำให้ช่างทอผ้านำมารังสรรค์ให้เป็นลวดลาย สำหรับดอกไม้ที่ปลูกในภูมิภาคนี้ เช่น ดอกดาวกระจาย ดอกชบา            ดอกทานตะวัน ช่างทอผ้าได้นำมาสร้างเป็นลวดลายบนผืนผ้าเช่นกัน นอกจากนี้ พืชที่ใช้เป็นอาหารจำพวกหน่อไม้เกิดจากสภาพพื้นที่ของภาคใต้มีต้นไผ่ที่เกิดขึ้นทั่วไปตามธรรมชาติ ช่างทอผ้าก็ได้นำมาประยุกต์เกิดเป็นลวดลายสวยงามบนผืนผ้า ตัวอย่างลวดลายเหล่านี้บอกเล่าสภาพแวดล้อมของสังคมแต่ละยุคสมัยผสมผสานกับจินตนาการของช่างทอกลายเป็นศิลปะบนผืนผ้าที่สื่อความหมายแทนตัวตนของคนในสังคมสมัยโบราณจึงช่วยให้ผู้สนใจสามารถสืบสาวเรื่องราวในอดีตได้จากผืนผ้า

         ในส่วนของรูปแบบและสีสันบนผืนผ้าทำให้เข้าใจสังคมและแฟชั่นของแต่ละช่วงสมัยที่เรามองย้อนอดีต        ดังนั้นจะเห็นได้จากการแต่งกายของชาวไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยโบราณ ทั้งผ้าห่มหรือผ้าแถบ และผ้านุ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพราะในสมัยนั้นยังไม่นิยมสวมใส่เสื้อผ้า ส่วนสีสันบนผืนผ้าใช้สีจากเปลือกไม้ ใบไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ผืนผ้าเหล่านี้จึงมีรูปแบบและความงดงามแบบคลาสสิกจนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปิดประเทศติดต่อกับประเทศตะวันตก ราชสำนักได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกายตามแบบตะวันตก คนไทยจึงเริ่มสวมเสื้อผ้าตามแบบชาวต่างชาติ การห่มผ้าแถบ และนุ่งผ้าถุงค่อย ๆ ลดความนิยมลง สำหรับในภาคใต้ก็ได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากราชสำนักที่กรุงเทพฯ เช่นกัน เพราะผ้าจากต่างประเทศผลิตจากเครื่องจักรและใช้สีสังเคราะห์ มีราคาถูกกว่าผ้าทอมือซึ่งต้องใช้กระบวนการผลิตหลายขั้นตอน ต้องใช้เวลานานในการผลิตผ้าทอแต่ละผืน ต้องมีฝีมือประณีต จึงจะได้ผ้าที่มีความสวยงาม ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผ้าทอมือลดความสำคัญลง

          ผ้าทอแต่ละผืนถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านลวดลาย สีสัน และ          อุปกรณ์ทอผ้า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาและนวัตกรรมการผลิตผ้าทอในสมัยโบราณที่ผ่านการปรับเปลี่ยนนวัต-    กรรมการผลิตให้สอดคล้องกับสมัยนิยมเรื่อยมา แต่ก็ไม่อาจต้านกระแสของผ้าที่ทอจากเครื่องจักรได้ ประกอบกับขาดแคลนวัสดุในการทอโดยเฉพาะเส้นใยไหมซึ่งต้องสั่งซื้อจากประเทศจีนไม่สามารถนำเข้ามายังประเทศไทยได้        อีกทั้งไม่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้รวดเร็วและไม่สามารถปรับราคาขายให้ถูกลงเพื่อจะได้แข่งขันกับผ้าที่ผลิตจากโรงงานได้ ในที่สุดผ้าทอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สูญหายไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นการทอผ้าจวนตานี ซึ่งเป็นผ้ามัดหมี่โบราณของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรองศาสตราจารย์จุรีรัตน์ บัวแก้ว และคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2543 และพัฒนาฝีมือกลุ่มแม่บ้านอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีให้สามารถผลิตเป็นสินค้า OTOP ได้สำเร็จ ทั้งนี้เพราะการประยุกต์ลวดลายและสีสันตลอดจนการปรับเปลี่ยนนวัตกรรมการผลิตให้ทันสมัยสอดคล้องกับแฟชั่นสมัยใหม่ทำให้สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้าจวนตานีซึ่งเป็นภูมิ-        ปัญญาของบรรพชนให้ดำรงอยู่ต่อไปได้

          คุณค่าของผืนผ้าเหล่านี้ถูกถักทอขึ้นมาท่ามกลางแรงบันดาลใจของช่างทอผ้าที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใน      แต่ละยุคสมัยมาถักทอผ่านเส้นใยไหมและใยฝ้ายที่ถูกมัดย้อมให้เกิดลวดลาย บรรจงสอดใส่เรื่องราวรอบ ๆ ตัวด้วยฝีมือที่ประณีต เปรียบเสมือนการบันทึกเรื่องเล่าในแต่ละสังคมผ่านลวดลายและสีสันที่โลดแล่นบนผืนผ้าเพื่อบอกเล่าวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชนและการปรับเปลี่ยนนวัตกรรมการผลิตเรื่อยมาจากอดีตสู่ปัจจุบันเพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 


ตัดไม้ข่มนาม คือ ทำพิธีทางไสยศาสตร์ก่อนออกสงคราม โดยหาไม้ที่มีชื่อเหมือนหรือสำเนียงคล้ายชื่อข้าศึกมาตัดให้ขาดเพื่อ                        เอาชัย เรียกพิธีกรรมอย่างนั้นหรือที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นกันว่า พิธีตัดไม้ข่มนาม

แชร์ 3416 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้