เส้นทางภูมิปัญญายากลาย

หน้าแรก ย้อนกลับ เส้นทางภูมิปัญญายากลาย

เส้นทางภูมิปัญญายากลาย

 

เส้นทางภูมิปัญญายากลาย

                                                                                            สิริพร  รอดเกลี้ยง1

 

         “ยากลาย” (ยาเส้นพื้นบ้าน) เป็นชื่อของยาสูบชนิดหนึ่งที่ปลูกกันมากในท้องที่ลุ่มน้ำคลองกลาย โดยเฉพาะ      อย่างยิ่งตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กลายเป็นชุมชนที่ปลูกยาสูบมาเป็นระยะเวลายาวนานดังปรากฏตามรายงานเกี่ยวกับการค้าของเมืองนครศรีธรรมราชของพระยาสุขุมนัยวินิต เมื่อปี พ.ศ. 2440 ความว่า

       อำเภอกลายมีการทำไร่ยาสูบมาแต่โบราณ สินค้าซึ่งเกิดขึ้นในบ้านเมืองมี ไต้ ยาสูบ คราม ดีบุก เรือมาด2    เป็นต้น สินค้าเหล่านี้ เช่น ไต้ ยาสูบที่แขวงอำเภอกลายมีมาก แขวงอำเภออื่น ๆ ก็มีบ้างแต่ไม่สู้มากนัก ไปต่างประเทศ สิงคโปร์บ้าง หัวเมืองในเขตพระราชอาณาเขตบ้าง ยาสูบไปต่างเมือง คือ กรุงเทพ เมืองแขก 7 หัวเมือง กลันตัน ตรังกานู 2,090 หาบ 50 ชั่ง ” (สุขุมนัยวินัย, พระยา, 2440, น. 30)

            นักวิชาการท้องถิ่นอย่าง สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และคณะได้กล่าวไว้ในทำนองเดียวกันว่า "คนจีนที่เข้ามาตั้ง        ถิ่นฐานในจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ภูมิปัญญาจีนดำเนินการผลิตสินค้าพื้นเมืองหลายชนิด เช่น ทำไร่ยาเส้นที่อำเภอกลาย อำเภอท่าศาลา และพัฒนาคุณภาพยาเส้นให้มีคุณภาพสูง เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง จนยากลายเป็นสินค้าที่สำคัญของเมืองนี้ ในปี ร.ศ. 117 พ.ศ. 2441 สามารถผลิตได้ถึง 2,090 หาบเศษ เป็นมูลค่า 41,810 บาท ส่งยากลายไปขายต่างเมืองคือ กรุงเทพฯ เมืองแขก 7 หัวเมือง เมืองกลันตัน ตรังกานูฯ” (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์และคณะ, 2544, น. 104) ดังภาพแสดง

 

ต้นยากลาย

 

         จากที่กล่าวมาข้างต้น ยากลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส มาตั้งแต่ในอดีต ใบจากปัตตานีกับยาสูบกลายเป็นสัญญะ” ที่สื่อถึงการผสมกลมกลืนของสองวัฒนธรรม สมัยโบราณยากลายปลูกกันไม่มากนัก แต่จะปลูกกันเกือบทุกบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือน ชาวบ้านจะใช้ยากลายที่ผลิตเป็นรูปยาเส้นด้วยใบจากสำหรับสูบแทนที่จะซื้อยาสูบที่ผลิตจากโรงงานยาสูบ ทั้งใช้สูบเองและรับรองแขก ใบจากนั้นจะซื้อมาจากอำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือไม่ก็จะแลกเปลี่ยนกัน คือชาวบ้านอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร เอาใบจากมาให้และเอายากลายกลับไป หรือชาวกลายอาจจะเอายากลายไปให้และนำใบจากกลับมา ในสมัยก่อนชาวบ้านจะมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ชาวกลายเล่าว่า พอถึงหน้าฝานยา ชาวนอกจะขึ้นเหนือเอาใบจากมาแลกกับยากลาย

         เมื่อพ่อค้าในชุมชนกลายนำยากลายไปขายที่ปัตตานี ปัตตานีไม่มียาเส้นมีแต่ใบจาก ทำให้สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่      ต้องใช้ร่วมกัน ที่สามารถหยิบยกความเป็นยากลายและใบจากมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือสิ่งที่แทนมิตรภาพระหว่างคนสองวัฒนธรรมได้ เป็นการแลกเปลี่ยนโดยผลประโยชน์ที่เกื้อหนุนทั้งสองฝ่าย นั้นก็คือการให้ความสำคัญกับคุณค่าเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนคุณค่าเชิงสัญลักษณ์จนกลายมาเป็นมูลค่าใช้สอยและมูลค่าการแลกเปลี่ยนจนหมดก็คือกระบวนการกลายเป็นสมัยใหม่ (Modernism) การสูบยากลายเริ่มต้นจากการมวนยา จะนำใบจากที่ม้วนอยู่คลี่ออกเป็นแผ่นเรียบ จากนั้นจะหักใบจาก การหักใบจากเริ่มจากการพับทีละนิดจากด้านใดด้านหนึ่ง และพับประมาณ 3 ครั้ง จนหมดความยาวของใบจาก การหักใบจากนี้ก็เพื่อไม่ให้ใบจากม้วนกลับและทำให้มวนยาได้ง่ายหลังหักพับใบจากเสร็จก็นำยากลายมากระจายเส้นให้ละเอียด วางตรงกลางใบจากแล้วค่อย ๆ ดึงไม่ให้ยาเส้นขาดและกระจายสม่ำเสมอ หลังจากนั้นมวนใบจากกลับเข้าไปใหม่ การมวนใบจากมีหลายวิธี เช่น มวนจากซ้ายไปขวา มวนจากขวาไปซ้าย หรือมวนแบบเฉียงเพื่อไม่ให้ใบจากคลี่ออกตอนสูบ การสูบยาเส้นมวนด้วยใบจากในภาคใต้นิยมมานานจนคนในภาคใต้เรียกว่า  ยาสูบใบจาก และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน เพราะมีคุณสมบัติดีกว่าในพืชชนิดอื่น ครั้นต่อมาจนถึงปัจจุบันความนิยมได้แพร่หลายสู่ผู้ที่เป็นนักเลงสูบบุหรี่

           ในด้านของรูปแบบยากลายที่จำหน่าย จะมีลักษณะเป็นพับสี่เหลี่ยมผืนผ้า ดังรูปภาพแสดง

       ในด้านศักยภาพในการนำไปสร้างสรรค์ยากลายนั้น ปัจจุบันยังมีจำนวนครอบครัวที่ยังคงสืบสานการปลูกยา-    กลาย เยาวชนรุ่นหลังควรจะต้องเรียนรู้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองให้ได้อย่างถ่องแท้ ต่อยอดผลผลิตให้มีความเป็นทันสมัยต่อไป หรือสร้างเป็นอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (Culture Industry) นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยนำวัฒนธรรม (culture) ซึ่งเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่สะท้อนวิถีการดำเนินชีวิตมาสร้างเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ที่สอดรับกับกระแสความต้องการของตลาดและผู้บริโภค กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างคุณค่าสินค้าที่อาศัยการสั่งสมชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน รวมถึงการรักษาระดับคุณภาพมาตรฐานจนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ซื้อให้การยอมรับและรู้สึกว่ามีคุณค่ามีความโดดเด่นที่แตกต่างจากยาสูบจากที่อื่น อันส่งผลให้ผู้ซื้อเกิดความประทับใจจนเกิดผลการซื้อซ้ำอย่างยั่งยืน

 

1นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

2เรือมาดเป็นเรือขุดลักษณะท้องกลม หัวและท้ายเรือแบนกว้าง ขุดจากไม้ซุง ซึ่งมักเป็นไม้ตะเคียน

แชร์ 3837 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้