ความเชื่อของชาวภาคใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ ความเชื่อของชาวภาคใต้

ความเชื่อของชาวภาคใต้

 

ความเชื่อของชาวภาคใต้1

 

              ความเชื่อ เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิดและพฤติกรรมของชาวบ้านกลุ่ม  นั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง เพราะการสืบทอดความเชื่อมีการปลูกฝังสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ผู้ให้การสืบทอดล้วนแต่ยึดถือปฏิบัติให้ประจักษ์ชัดเป็นต้นแบบอย่างกว้างขวางและมั่นคง และล้วนมีเจตนาที่จะปลูกฝังให้ผู้สืบสันดานเจริญรอยอย่างเคร่งครัด มักถือเป็นเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกัน ผู้ปฏิบัติตามย่อมเป็นที่ยอมรับของคณาญาติและสังคม ส่วนผู้ฝ่าฝืนย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนา การปลูกฝังความเชื่อล้วนมีขึ้นนับแต่วินาทีแรกที่ผู้สืบต่อเริ่มเป็นสมาชิกใหม่ของสังคมนั้น ๆ การบ่มเพาะจึงมีลักษณะเป็นการดัดแต่งไม้อ่อนให้ค่อยปรับเปลี่ยนตามและเพิ่มพูนขึ้นจนกลายเป็นผู้สืบสันดานให้แก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป

               ความเชื่อของชาวไทยในภาคใต้ จำแนกตามมูลฐานที่เกิดได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ คือ

            1. ความเชื่อที่เกี่ยวกับลัทธิและศาสนา ความเชื่อกลุ่มนี้แตกต่างกันไปตามชนกลุ่มน้อยและศาสนา ชนกลุ่ม    น้อยในภาคใต้มี 2 กลุ่ม คือ ชาวเลหรือชาวน้ำ (ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตก) และพวกซาไก (มีเหลืออยู่น้อย เช่น ในเขตจังหวัดยะลา) ความเชื่อของชน 2 กลุ่มนี้ เด่นในเรื่องผี วิญญาณ และอำนาจเหนือธรรมชาติ ส่วนความเชื่อที่สืบเนื่องจากศาสนาจำแนกเป็นกลุ่มไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวจีน เช่น ชาวจีนในจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ความเชื่อส่วนหนึ่งถือตามศาสนาบัญญัติ ส่วนหนึ่งเกิดจากประเพณีที่เกี่ยวกับศาสนาและการแปลความบุคลาธิษฐานเป็นรูปของคติความเชื่อซึ่งมักนำไปประสมประสานกับลัทธินิยมดั้งเดิม

            2. ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ความเชื่อกลุ่มนี้เกิดจากความเชื่อมั่นต่อความเชื่อกลุ่มแรก ถือว่าชีวิตอยู่ใต้        อำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติหรือบุญญาธิการของพระศาสดาและทวยเทพทั้งปวง และถ้าผู้ใดสามารถยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้นก็ดี หรือเพียรบำเพ็ญจนอำนาจเหล่านั้นมีขึ้นในตัวตนก็ดี จะทำให้ตนมีคุณวิเศษเหนือคนสามัญ พวกนี้จึงเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา เครื่องรางของขลัง และโชคลาง แล้วมักดึงเอาศาสนาเข้ามาประสมประสาน       ิ  มีอิทธิพลของลัทธิศาสนาพราหมณ์และลัทธินิยมดั้งเดิมประสมอยู่เป็นอันมาก

             3. ความเชื่อที่เกี่ยวกับจริยาวัตร ความเชื่อกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดแต่อุบายที่จะอบรมสั่งสอนให้ผู้ที่อยู่ในความ    รับผิดชอบ มีความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมนั้น ๆ ซึ่งมีสภาวะทางธรรมชาติและปทัสถานของสังคมนั้น ๆ เป็นเครื่องกำหนด มีการปลูกฝังให้เชื่อตามให้ปฏิบัติตาม มักนำเอาคุณและโทษที่อยู่เหนือวิสัยธรรมชาติมาอ้างเพื่อไม่ให้ฝ่าฝืนหรือละเลย

           4. ความเชื่อที่เกี่ยวกับยากลางบ้านและการปัดเป่ารักษาไข้ ความเชื่อกลุ่มนี้เกิดแต่ความจำเป็นในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและปลอดภัยของชีวิต เพื่อบำบัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ความเชื่อส่วนหนึ่งได้จากประสบการณ์ที่สะสมสืบต่อกันมา ซึ่งมีลักษณะของการคลาดเคลื่อนไขว้เขวเป็นธรรมชาติในตัวของมันเอง และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเดาสุ่ม จึงเป็นความเชื่อที่อาจเป็นจริงได้ และที่เกิดสำคัญผิดเพราะผู้รับช่วงปฏิบัติขาดวิธีการและเครื่องช่วยในการพิสูจน์เลือกเฟ้นยากลางบ้าน ส่วนหนึ่งจึงเป็นประเภทสมุนไพร และอีกส่วนหนึ่งเป็นการรักษาปัดเป่าด้วยเวทมนตร์คาถาที่ผู้สืบทอดปรุงแต่งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความศรัทธาเชื่อถือในการใช้ยากลางบ้านหรือใช้เฉพาะเวทมนตร์คาถา ความเชื่อทั้ง 4 ประเภทนี้ อาจประสมประสานกันอยู่ในเรื่องเดียวกันมากกว่า 1 ประเภท เช่น            ความเชื่ออันสืบเนื่องจากศาสนา อาจมีความเชื่อที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ปนอยู่ด้วย หรือความเชื่อที่เกี่ยวกับลัทธินิยมดั้งเดิมอาจมีความเชื่อที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ปนอยู่ด้วย เป็นต้น

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ความเชื่อของชาวภาคใต้” (หน้า 984-985). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่2. (2542).       มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 22481 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้