ลากพระ

หน้าแรก ย้อนกลับ ลากพระ

ลากพระ
ที่มา Clib.Psu
 
 
ลากพระ
 

          ลากพระ1 หรือ ชักพระ เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนากระทำกันหลังจากวันมหาปวารณาหรือวันออก-    พรรษา  1 วัน คือตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ รถ หรือล้อเลื่อน แล้วแห่แหนชักลากไปตามลำน้ำ หรือตามถนนหนทาง ถ้าท้องถิ่นใดอยู่ริมน้ำหรือมีลำคลอง ก็ลากพระทางน้ำ ถ้าห่างไกลลำน้ำลำคลองก็ลากพระทางบก แล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะแก่การลากประเภทไหนมากกว่ากัน บางท้องที่ในจังหวัดตรัง พัทลุง และสงขลา มีการลากพระบกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ก็มี

            ประเพณีลากพระของชาวใต้มีมาแต่โบราณและก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่น ๆ สืบเนื่องหลายอย่าง เช่น ประเพณีการแข่งเรือพาย การชัน (ประชัน) โพนหรือแข่งโพน การประชันปืด2 หรือแข่งปืด กีฬาซัดต้ม3 การทำต้มย่าง และ      การเล่นเพลงเรือ เป็นต้น

       นับแต่ครั้งภิกษุชาวจีนชื่อ อี้จิง ได้จารึกผ่านคาบสมุทรมลายูเพื่อไปศึกษาศาสนาในอินเดีย ใน พ.ศ. 1214-1238 ก็ได้เห็นประเพณีการลากพระของชาวเมือง “โฮลิง” (ตันมาลิง หรือตามพรลิงค์) จึงบันทึกไว้ว่า “พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งมีคนแห่แหนนำมาจากวัดโดยประดิษฐานบนรถหรือบนแคร่ มีพระสงฆ์และฆราวาสหมู่ใหญ่แวดล้อมมา มีการตีกลอง และบรรเลงดนตรีต่าง ๆ มีการถวายของหอมดอกไม้และถือธงชนิดต่าง ๆ ที่ทอแสงในกลางแดด พระพุทธรูปเสด็จไปสู่หมู่บ้านด้วยวิธีดังกล่าวนี้ภายใต้เพดานกว้างขวาง” จากหลักฐานในจดหมายเหตุของภิกษุอี้จิงนี้ทำให้นักวิชาการบางคนเชื่อว่าประเพณีลากพระในภาคใต้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยศรีวิชัย

       ประเพณีลากพระของชาวใต้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เห็นชัดว่าเป็นประเพณีที่ทั้งสถาบันศาสนาและสถาบัน    กษัตริย์ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ดังปรากฏในเรื่องประทวนตราให้แก่พระครูอินทโมฬ คณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุงใน พ.ศ. 2242 ว่า “แลเมื่อครั้งคณะป่าแก้วแต่ก่อนมีพระครูอันดับ 6 องค์ ได้ช่วย การพระราชพิธีตรุษสารทแลงานลากพระถวายพระราชกุศล” และข้อความอีกตอนหนึ่งว่า “แลราชการเมืองซึ่งเป็นพนัดแก่ขุนหมื่นกรมคณะป่าแก้วมีแต่หน้าที่เมืองเส้นหนึ่งแลการพระราชพิธีตรุษสารท แลงานลากพระเจ้าเมืองจะได้เบียดเสียดเอาข้าพระไปใช้ราชการนอกแต่นั้นหามิได้” เมืองนครศรีธรรมราช ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แม้แต่ผู้ตีกลองในงานลากพระก็ถือว่าสำคัญ จึงมีแจ้งไว้ในทำเนียบ ข้าราชการตกเป็นพระอัยการไว้ ว่า “ขุนรันไภรีถือศักดินา 200 พนักงานตีกลองแห่พระ” ตำแหน่งนี้มีมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชครั้งรัชกาลที่ 2 ว่า “ขุนรันไภรีถือศักดินา 200 พนักงาน  ตีกลองแห่พระ” เช่นกัน

            ประวัติความเป็นมาของประเพณีลากพระเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำ      ยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์4 ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถีแล้ว ได้เสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดาจนสิ้นสมัยพรรษา แล้วเสด็จกลับมามนุษยโลก พระอินทร์จึงนิมิตบันไดทอดจากสวรรค์ลงสู่มนุษยโลกที่ใกล้ประตูนครสัง-กัสสะ เป็นบันไดทองเบื้องขวา บันไดแก้วอยู่กลาง และบันไดเงินอยู่เบื้องซ้าย พระพุทธองค์เสด็จบันไดแก้ว (อันมีนยะ เป็นปรัชญาว่า เลือกเดินทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา) พุทธศาสนิกชนกำหนดนี้จากพระโมคคัลลานะว่า พระพุทธองค์จะเสด็จถึงประตูนครสังกัสสะในเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ต่างปลาบปลื้มยินดีพากันไปรอรับเสด็จ พร้อมด้วยเตรียมภัตตาหารไปถวายอย่างล้นหลามจนไม่อาจเข้าไปถวายถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน ผู้ที่ไม่อาจเข้าไปใกล้ได้ซึ่งมีเป็นจำนวนมากนั้นก็มีศรัทธาแรงกล้าจึงใช้ใบไม้ห่อภัตตาหารแล้วต่อกันบ้าง โยนบ้าง ปาบ้าง          ตามตำนานว่าด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น (อันนี้คือที่มาของการนำเอาข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูป 3 มุมคล้ายข้าวต้มลูกโยนที่ภาษาถิ่นเรียกว่า “ต้ม”)

             ครั้นเลยพุทธกาลมาแล้ว และเมื่อมีพระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปมาแห่แหนสมมติ      แทนพระพุทธองค์ กระทำกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี สืบมาเป็นประเพณีลากพระ อันอุปมาเสมือนหนึ่งได้ร่วมรับเสด็จและร่วมถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะห่างไกลกันด้วยเวลาและสถานที่สักเพียงใด

           เป็นที่น่าสังเกตว่าจากพุทธประวัติตอนที่กล่าวมาแล้วนั้นในภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย ล้วนเกิดเป็นประเพณี “ตักบาตรเทโว” หรือเรียกเต็มว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” การที่เกิดเป็นประเพณีลากพระขึ้นในภาคใต้และกลายเป็นประเพณีสำคัญยิ่ง จึงน่าจะเป็นเพราะมีคตินิยมดั้งเดิมอย่างอื่นเป็นพื้นฐานอยู่ด้วยและเหตุประจวบเหมาะคือ ในเดือน 11 นั้นเป็นช่วงที่ภาคใต้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนซึ่งส่วนมากประกอบเกษตรกรรม สิ่งปรารถนาที่พ้องกันจึงได้แก่การขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล งานบุญลากพระจึงมุ่งขอฝนเพื่อการเกษตรจนเกิดเป็นคติความเชื่อว่าการลากพระทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล คติดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดจากความเชื่อที่ว่า “เมื่อพระหลบหลัง (ลากเรือพระกลับวัดเสร็จเรียบร้อย) ฝนจะตกหนัก” ความเชื่ออันนี้มีหลักฐานปรากฏอยู่ในรายงานพระวิจิตรวรสาสน์ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลาและพัทลุง ร.ศ. 114 (พ.ศ. 2438) ว่า “อนึ่ง ราษฎรชาวเมืองสงขลานิยม นับถือในการแห่พระ        ถึงระดู เดือน 11 ชวนกันอาราธนา พระพุทธรูปลงมาตั้งบนรถแห่ไปตามถนนทุก ๆ ปี ถือกันว่า ทำให้ไร่นาบริบูรณ์        แต่การที่เป็นมาแล้ว มักจะเกิดเหตุวิวาทกัน เสมอทุก ๆ ราย” และเพราะเหตุที่มักวิวาทกันขึ้น “ผู้ว่าราชการเมืองจึงออกหมายประกาศห้ามให้เลิกการลากพระเสียตลอด เมืองสงขลาหลายปีมาแล้วแต่ราษฎรยังมีความปรารถนาอยู่เสมอ ครั้งข้าพระพุทธเจ้าไปคราวนี้ ต่างคนต่างมาร้องขออนุญาตที่จะลากพระดังที่เคยได้มาแต่ก่อน อ้างว่าที่ทำนาไม่บริบูรณ์มาหลายปีแล้วนั้นก็เพราะไม่ได้แห่พระ

            พระพุทธรูปที่นิยมใช้ในพิธีลากพระ ได้แก่ ปางเสด็จ ลงมาจากดาวดึงส์ บางท้องถิ่นก็ใช้ปางอุ้มบาตร โดยถือ    ตามคติ ที่มาของประเพณีดังกล่าวมาในตอนต้น แต่มีหลายท้องถิ่น นิยมใช้ปางห้ามสมุทร บางแห่งใช้ปางห้ามญาติ และบางแห่งใช้ปางคันธารราษฎร์ซึ่งเป็นปางขอฝนที่ใช้ในพิธีพิรุณศาสตร์ของภาคกลาง (ทำในเดือน 9 เพราะฤดูทำนาของภาคกลางเร็วกว่าภาคใต้เป็นพระคันธารราษฎร์แบบยืนตามที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นมีลักษณะผ้าอุทกสาฎกตวัดชาย คลุมพระพาหาข้างหนึ่ง เสด็จยืนอยู่บนบัว กลุ่มที่ฐานมีขั้นอัฒจันทร์ลงไป 3 ขั้น อันนี้ย่อมบ่งถึงความเชื่อของชาวภาคใต้ที่ว่าการลากพระทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ไร่นาบริบูรณ์ได้ชัดยิ่งขึ้น บางวัดใช้พระพุทธรูปปางอื่นที่มีประวัติสำคัญพิเศษของวัดนั้น ๆ ที่ชาวบ้านมีความเชื่อถือพิเศษก็มี ถือว่าปางใดก็เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ที่ใช้เป็น 2 องค์หรือ 3 องค์ก็มี

           เมื่อศรัทธาว่าการลากพระทำให้ฝนตกตามฤดูกาล ก็เกิดการผสมผสานกับคติที่ว่านาคเป็นผู้ให้น้ำแก่มนุษย-    โลก เหตุนี้เองการตกแต่งรถ เรือ หรือล้อเลื่อนที่ใช้สำหรับลากพระ จึงนิยมให้เป็นรูปพญานาค

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ลากพระ” (หน้า 6794-6804). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 14. (2542).                         มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
2 ปืด คือกลองสองหน้ามีลักษณะคล้ายกับตะโพนของภาคกลาง ปืดใช้บรรเลงในพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะพิธีลากพระ
3 ซัดต้ม เป็นกีฬาพื้นเมืองที่นิยมเล่นในเทศกาลออกพรรษา ซึ่งลูกต้มสำหรับปา ทำจากข้าวตากผสมทรายห่อด้วยใบตาลโตนดหรือ     ใบมะพร้าวมาสานแบบตะกร้อ ขนาดเท่ากับกำปั้นมือ และใช้หวายสอดภายนอกอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้แน่นมากขึ้น
4 เดียรถีย์ คือ คำที่ใช้เรียกคนนอกศาสนาหรือคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ

แชร์ 1496 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้