ประเพณีทำบุญเดือนสิบ

หน้าแรก ย้อนกลับ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ

ประเพณีทำบุญเดือนสิบ

       แห่หมรับออนไลน์  คลิก

ประเพณีทำบุญเดือนสิบ1

 

      ทำบุญเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวภาคใต้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน    ทั้งนี้เนื่องมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า ในปลายเดือน 10 พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องซึ่งล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีบาปตกนรกอยู่ซึ่งเรียกว่า “เปรต” จะได้รับการปล่อยตัวจากพญายมให้ขึ้นมาพบลูกหลานและญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และให้กลับไปอยู่เมืองนรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจึงจัดให้มีการทำบุญเป็นประเพณีขึ้นใน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่งกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง (บางท้องที่ทำในวันแรม 14 ค่ำ) เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นสำคัญ เพียงแต่ว่าการทำบุญใน 2 วาระนี้ อาจมีวิถีปฏิบัติยิ่งหย่อนต่างกัน กล่าวคือโดยทั่วไปแล้วจะกระทำกันอย่างจริงจังในวาระหลัง เพราะถือว่ามีความสำคัญกว่าในวาระแรก การทำบุญสารทเดือนสิบเป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติที่มีต่อบรรพบุรุษ อันเป็นค่านิยมที่สำคัญยิ่งของชาวใต้และของคนไทยทั่วไป

ชื่อเรียกประเพณี

          ประเพณีทำบุญนี้มีชื่อเรียกต่างกันออกไปเป็นหลายชื่อ โดยทั่วไปแล้วจะมีการกำหนดเรียก 4 ลักษณะ คือ

1. กำหนดเรียกตามเดือนที่ทำบุญประเพณี

2. กำหนดเรียกตามประเพณี “สารท” ของอินเดีย ที่รับอิทธิพลเข้ามา

3. กำหนดเรียกตามขั้นตอนปฏิบัติที่สำคัญของประเพณี

4. กำหนดเรียกตามความมุ่งหมายหลักของประเพณี

ความเป็นมาของประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ

      ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบในภาคใต้มีมาแต่เมื่อใดและเริ่มมีขึ้นที่ไหนก่อน ทราบแต่ว่าเป็นประเพณีที่มีมาช้านานแล้ว และปฏิบัติกันทั่วไปในภาคใต้ โดยทำบุญสารทเดือนสิบนี้สันนิษฐานกันว่าเป็นประเพณีที่เรารับมาจากอินเดียเช่นเดียวกับประเพณีอื่น ๆ อีกหลายประเพณี ซึ่งจากหลักฐานที่ปรากฏ พบว่าประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่เราได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอย่างเด่นชัด ทั้งจากวิถีปฏิบัติเนื่องในฤดูสารทของ ชาวอินเดียและประเพณี “ศราทธ์” และ “เปตพลี” ของพวกพราหมณ์แต่ครั้งสมัยก่อนพุทธกาล ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกันเรื่อยมา ทั้งในด้านความมุ่งหมายและวิถีปฏิบัติหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเพณี “เปตพลี” นั้น พวกพราหมณ์ได้กระทำกันเรื่อยมา แม้ถึงสมัยพุทธกาลแล้วมีพวกพราหมณ์จำนวนมากหันมานับถือพุทธศาสนาแต่ก็ยังคงถือปฏิบัติประเพณีนี้อยู่ พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าประเพณีนี้มีคุณค่าเพราะเป็นการแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ยังความสุขแก่ผู้ปฏิบัติ จึงทรงอนุญาตให้อุบาสกอุบาสิกาประกอบพิธีนี้ต่อไป ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ จึงเกิดขึ้นตามพุทธานุญาตด้วยเหตุนี้เองและได้ปฏิบัติประเพณีนี้สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้เพียงแต่ว่าเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมพิธีกรรมไปบ้างเท่านั้นเอง

           ทั้งนี้เนื่องจากนครศรีธรรมราชเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ เป็นแหล่งสำคัญของพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ และมีความเจริญรุ่งเรืองมากในภาคใต้มาแต่อดีต จึงทำให้เชื่อกันว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่ง ที่มีการรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียแล้วแผ่กระจายไปยังแหล่งอื่น

ความมุ่งหมายของประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ

          ประกอบด้วย 4 ข้อ ดังนี้

1. เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้อง หรือบุคคลอื่นที่ล่วงลับไปแล้ว

2. เป็นการทำบุญแสดงความชื่นชมยินดีในโอกาสที่ได้รับผลิตผลทางการเกษตร ในช่วงปลายเดือน 10

3. เพื่อเป็นการอำนวยประโยชน์ในด้านปัจจัยอาหารแก่ภิกษุสงฆ์ในช่วงฤดูฝน

4. เพื่อเป็นการแสดงความสนุกสนานรื่นเริงประจำปีร่วมกันเนื่องในโอกาสประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ

วิถีปฏิบัติและพิธีกรรมในประเพณีสารทเดือนสิบ

         ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่เรียกว่า “เปรต” ให้ขึ้นมาจากนรก และจะเรียกตัวกลับไปนรกตามเดิมใน วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 การปฏิบัติของผู้มีชีวิตอยู่ในประเพณี จึงมีอยู่ 2 ครั้ง คือ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง กับในวันแรม 13 ค่ำ แรม 14 ค่ำ และ แรม 15 ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง

           ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านโดยทั่วไปยังไม่ถือว่าเป็นวันสำคัญนัก (เมื่อเทียบกับวันแรม 13 ค่ำ แรม 14    ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือน 10) ดังนั้นการประกอบพิธีในวันนี้ จึงเป็นไปอย่างง่าย ๆ เพียงจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดเป็นการต้อนรับญาติมิตรที่ขึ้นมาจากนรกเท่านั้น ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย” และในบางท้องถิ่นบางแห่ง เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกวันนี้ว่า “วันหฺมฺรับเล็ก” (หฺมฺรับ เป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึง สำรับ) ในวันนี้บางคนก็ไม่ประกอบพิธีกรรมแต่อย่างใดด้วย จะยกไปประกอบพิธีในวันแรม 13 ค่ำ แรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็น “วันหฺมฺรับใหญ่” ในวันแรม 13 ค่ำ แรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือเป็นช่วงที่ต้องปฏิบัติที่สำคัญมาก มีขั้นตอนของการปฏิบัติตนและประกอบพิธีกรรมโดยทั่วไปดังนี้

           1. การเตรียมการ มีการจัดหาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้ให้ครบถ้วนเพื่อการจัดหฺมฺรับ แต่ละบ้านแต่ละเรือนย่อมมีผลิตผลและสิ่งของต่าง ๆ ที่จะใช้ในการจัดหฺมฺรับไม่เหมือนกัน

           2. การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะจัดกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 การจัดหฺมฺรับแต่เดิมนิยมใช้กระบุงทรงเตี้ย ๆ สานด้วยตอกไม้ไผ่ขนาดเล็กใหญ่ตามความต้องการของผู้จัด แต่มาระยะหลังนี้ใช้ภาชนะจัดตามสะดวกโดยหัวใจสำคัญของหฺมฺรับคือ ขนม 5 อย่างซึ่งมีความหมายต่อการอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ และถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานบุญสารทเดือนสิบ คือ  

ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับญาติผู้ล่วงลับ ใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพตามคติทางพุทธศาสนา

ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม

ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย

ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้าสำหรับญาติผู้ตาย จะได้ใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์

         ผู้สูงอายุบางคนกล่าวว่าขนมที่เป็นหัวใจของการจัดหฺมฺรับ มี 6 อย่าง โดยเพิ่มลาลอยมันซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทน     ฟูกหมอนเข้าไปด้วย ขนมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นขนมที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่บูดเสียง่ายเหมาะที่จะเป็นเสบียงเลี้ยงสงฆ์ไปได้ตลอดฤดูฝน ซึ่งสำหรับรูปแบบของหฺมฺรับ แล้วแต่ว่าผู้จัดจะจัดเป็นแบบใดและประดับตกแต่งให้สวยงามอย่างไร การจัดหฺมฺรับอาจจะจัดกันเฉพาะครอบครัว หรือจัดกันในหมู่ญาติพี่น้อง หรือ รวมกันจัดเป็นกลุ่มเป็นพวกระหว่างเพื่อนฝูงก็ได้ นอกจากสิ่งดังกล่าวแล้วในหฺมฺรับจะต้องมีน้ำด้วย โดยจัดหาน้ำสะอาดใส่ภาชนะ เช่น ขัน แก้ว หรือขวด ไว้สำหรับเป็นน้ำดื่มของบรรพชนด้วย (สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันที่ขาดไม่ได้)

           3. การยกหฺมฺรับและการถวายภัตตาหาร เมื่อจัดหฺมฺรับเรียบร้อยแล้วก็จะมีการยกหฺมฺรับไปวัด พร้อมทั้งถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ด้วย แต่เดิมมาเขาจ่ายกันในวันแรม 13 ค่ำ รุ่งขึ้น 14 ค่ำ จัดหฺมฺรับถึงแรม 15 ค่ำ จึงยกหฺมฺรับไปวัด ตั้งเปรตและบังสุกุลถึงบุรพชน แต่ในปัจจุบันวันปฏิบัติอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างในแต่ละแห่ง

          4. การฉลองหฺมฺรับและบังสุกุล กระทำในวันแรม 15 ค่ำ ในวันนี้มีการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองหฺมฺรับเรียกว่า       “วันหลองหฺมฺรับ” นอกจากนี้ก็มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุล เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องและผู้อื่นที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญในวันนี้ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งเพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติพี่น้องและผู้อื่นที่ล่วงลับไปแล้วกลับสู่เมืองนรก ชาวบ้านจึงเรียกวันนี้ว่า “วันส่งตายาย” ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดในวันนี้ เพื่อบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะไม่อดอยากหิวโหยเมื่อกลับสู่นรก ถ้าหากใครไม่ได้ไปทำบุญในวันส่งตายายนี้จะถูกมองว่าเป็นคนอกตัญญู

          5. การตั้งเปรต เมื่อยกหฺมฺรับและถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์แล้วจะมีการตั้งเปรต แต่เดิมกระทำโดยเอา        อาหารอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ตรงทางเข้าวัดบ้าง ริมกำแพงวัดบ้าง หรือตามโคนต้นไม้บ้าง เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อมาในระยะหลังมีการสร้างร้านขึ้นสูงพอสมควรเรียกว่า “หลาเปรต” (หลา เป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึง ศาลา ดังนั้น “หลาเปรต” จึงหมายถึงศาลาที่ใช้สำหรับตั้งเปรต) แล้วนำอาหารที่จะตั้งเปรตไปไว้บนหลาเปรตนั้น อาหารเหล่านี้จัดชนิดที่บรรพบุรุษชอบอย่างละนิดอย่างละหน่อย และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ขนม 5 อย่าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำบุญสารทเดือนสิบดังกล่าวแล้ว เมื่อตั้งอาหารบนหลาเปรตแล้วก็จะนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับเพื่อสวดบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปยังผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ก็เก็บสายสิญจน์ ผู้คนทั้งเฒ่าแก่ หนุ่มสาวและเด็ก ๆ ก็จะกรูกันเข้ามาแย่งชิงอาหารที่ตั้งไว้นั้นเรียกว่า “ชิงเปรต” เนื่องจากมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษถ้าใครได้กินก็จะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

 

 

 

  

  

1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ทำบุญเดือนสิบ: ประเพณี” (หน้า 3384-3395). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่มที่ 7.                         (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 3110 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้