ขนมบุหงาปูดะ

หน้าแรก ย้อนกลับ ขนมบุหงาปูดะ

ขนมบุหงาปูดะ

 

ขนมบุหงาปูดะ1

           ขนมบุหงาปูดะ เป็นขนมประจำจังหวัดสตูล หากได้เดินทางมาจังหวัดสตูลแล้วไม่ได้ทานขนมบุหงาปูดะ ถือว่ายังมาไม่ถึงจังหวัดสตูลอย่างแท้จริง เพราะขนมชนิดนี้เป็นขนมหวานโบราณที่หายากและมีในพื้นที่จังหวัดสตูลเท่านั้น โดยคนในพื้นที่สตูล เรียกขนมชนิดนี้ว่า “โกยบุดะ” ซึ่งคำว่า “โกย” หมายถึง “ขนม” แปลรวมได้เป็น “ขนมดอกเตย” โดยดอกเตยในที่นี้คือ ดอกเตยปาหนัน ซึ่งเป็นพืชตระกูลปาล์มที่ขึ้นอยู่แถบทะเล มีดอกสีขาว                      

           ขนมบุหงาปูดะ เป็นขนมที่นิยมทำกันในเทศกาลวันปีใหม่ของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ จังหวัดสตูลของประเทศไทย ซึ่งเป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศมาเลเซียเนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดสตูล ในอดีตขนมชนิดนี้เป็นขนมชนชั้นสูงที่มีอยู่เฉพาะในวังของเจ้าเมืองอิสลาม นิยมนำมาใช้ในการต้อนรับแขกและใช้เป็นแบบทดสอบของหญิงที่จะถูกคัดเลือกเป็นสะใภ้เจ้าพระยา เนื่องจากคนที่จะทำขนมชนิดนี้ได้ต้องเป็นคนที่มีความสุขุม เพื่อให้ได้ขนมบุหงาปูดะอันสวยงาม และด้วยรูปร่างหน้าตาที่คล้ายหมอนรูปทรงสี่เหลี่ยม เปรียบเสมือนการเริ่มใช้ชีวิตคู่เคียงเรียงหมอน ขนมชนิดนี้จึงนำมาใช้ในพิธีแห่ขันหมากในงานแต่งงานอีกด้วย

           นอกจากเทศกาลปีใหม่แล้ว    บุหงาปูดะยังเป็นขนมในเทศกาลและพิธีอื่น ๆ ของชาวไทยมุสลิมอีกด้วย เช่น เทศกาลฮารีรายอ และเทศกาลถือศีลอด และแม้ในอดีตขนมชนิดนี้จะทำในช่วงเทศกาลสำคัญเท่านั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นของที่หาซื้อได้ทั่วไปในจังหวัดสตูล โดยเฉพาะในอำเภอละงู และถือว่าเป็นสินค้าโอท็อปที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัด

ขั้นตอนการทำ

           ขั้นตอนการทำขนมบุหงาปูดะแบ่งออกเป็นสองขั้นตอนหลักๆ คือ การทำไส้ขนมและการทำแป้งขนม เริ่มจากทำไส้ขนม นำมะพร้าวมาขูด คัดเนื้อมะพร้าวที่ขาวสะอาดแล้วนำไปผสมกับน้ำตาลทรายขาว สามารถเพิ่มความสวยงามและโดดเด่นของขนมได้ด้วยการผสมสีผสมอาหารหรือสีจากธรรมชาติ เติมเกลือลงไปเล็กน้อย จากนั้นต้มน้ำให้ร้อนแล้วใส่ใบเตยหอมลงไปในหม้อ กวนส่วนผสมทั้งหมดจนแห้งสนิทเสียก่อนจึงเสร็จขั้นตอนในการทำไส้ขนมบุหงาปูดะ

           ในส่วนของขั้นตอนการทำแป้งขนม   เริ่มจากนำแป้งข้าวเหนียว น้ำเปล่า ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมจนแป้งได้ที่ นำกระทะตั้งไฟให้ร้อน แล้วนำแป้งที่ผสมไปร่อนในกระทะ เมื่อแป้งเป็นแผ่นแล้วจึงนำไส้ที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้มาใส่ พับเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายหมอน ปล่อยทิ้งไว้สักครู่ แล้วจึงนำไปใส่ไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้

 

ภาพโดย: https://bit.ly/3JcKYRD

 

           ขนมบุหงาปูดะ นับเป็นขนมพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่ทำสืบทอดกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นขนมขึ้นชื่อในจังหวัดสตูลซึ่งเป็นจังหวัดเดียวที่สามารถหาทานได้ในประเทศไทยอีกด้วยเมื่อทานขนมบุหงาปูดะเข้าไปแล้วจะรู้สึกถึงกลิ่นอายของวัฒนธรรมมาเลเซียเข้าไปด้วย ดังนั้น ขนมบุหงาปูดะจึงเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัฒนธรรรมไทย - มลายู ในภาคใต้ของประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งยังคงมีให้เห็นและสามารถหาทานได้ในทุกวันนี้

 

1ขนมหวานโบราณที่ทำมาจากแป้ง และห่อไส้ด้วยมะพร้าวแห้งที่คลุกด้วยน้ำตาล

2พิธีแห่ขันหมาก เป็นหนึ่งในขั้นตอนของพิธีแต่งงานของไทย โดยเป็นการเดินขบวนของเจ้าบ่าวไปยังบ้านเจ้าสาว ซึ่งในขบวน                      ขันหมากนั้น จัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว โดยในขบวนขันหมากนั้นจะมีการนำอาหาร และขนมที่เป็น              ศิริมงคลมาใช้ในงานด้วย

เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์. (2564). บุหงาปูดะ ขนมพื้นเมืองรสอร่อยสินค้าเด่นขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล. https://bit.ly/3slGfGl

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล. (2563). ขนมบุหงาบูดะ. https://bit.ly/3uwP8zK

อ้อย นุ้ยน้ำวงษ์. (ม.ป.ป.). แบบบันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่น สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอละงู. . https://bit.ly/3LeV860

Easycooking. (ม.ป.ป.). ขนมเกสรลำเจียกกับขนมบุหงาบูดะ. https://bit.ly/3HzIP1M

 

แชร์ 1673 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้