การจัดหมฺรับและขนมสำคัญ 5 อย่าง

หน้าแรก ย้อนกลับ การจัดหมฺรับและขนมสำคัญ 5 อย่าง

การจัดหมฺรับและขนมสำคัญ 5 อย่าง

 

การจัดหมฺรับและขนมสำคัญ 5 อย่าง1

 

          คำว่า "หมฺรับ" หรือ "มฺรับ" หมายถึงสำรับนั่นเอง ประเพณียกหมฺรับเป็นประเพณีที่ทำขึ้นในเทศกาลวันสารท-    เดือนสิบของชาวปักษ์ใต้ ในยกหมฺรับหรือการจัดหมฺรับนั้นมักจัดกันเฉพาะครอบครัวหรือจัดรวมกันในหมู่ญาติและจัดเป็น กลุ่ม ภาชนะที่ใช้จัดหมฺรับนิยมใช้กระบุงหรือเข่งสานด้วยตอกไม้ไผ่ ใช้ขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของหมฺรับ ปัจจุบันใช้ภาชนะหลายชนิด เช่น ถาด กระเชอ กะละมัง ถัง หรือภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ การจัดหมฺรับเป็นการบรรจุ ประดับด้วยสิ่งของอาหารขนมเดือนสิบและอื่น ๆ โดยจัดเป็นชั้น ๆ ดังนี้    

 

   

           ชั้นที่ 1 จัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้งลงไว้ที่ก้นภาชนะ ได้แก่ ข้าวสาร แล้วใส่พริก เกลือ หอม กระเทียม    กะปิ น้ำเปล่า น้ำตาล มะขามเปียก รวมทั้งบรรดาปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม กุ้งแกง และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น

           ชั้นที่ 2 จัดบรรจุอาหารประเภทพืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ใส่ขึ้นมาจากชั้นแรก ได้แก่ มะพร้าว ขี้พร้า หัวมันทุกชนิด กล้วยแก่ ข้าวโพด อ้อย ตะไคร้ ลูกเนียง สะตอ รวมทั้งพืชผักอื่นที่มีในเวลานั้น

           ชั้นที่ 3 จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย หมาก พลู กานพลู การบูร พิมเสน สีเสียด ปูน ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูปและเทียน

           ชั้นที่ 4 หรือชั้นบนสุด ใช้บรรจุขนมสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการจัดหมฺรับ คือขนม 5    อย่าง ประกอบด้วยขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมเหล่านี้มีความหมายในการทำบุญเดือนสิบซึ่งจะขาดเสียมิได้เพราะบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในรกภูมิ ซึ่งขนม  5 อย่างจะเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งของที่ส่งไปให้บรรพบุรุษ ประกอบด้วย

           ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือหรือแพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เพราะขนมพองมีลักษณะแผ่            จึงเปรียบเสมือนแพ ที่มีน้ำหนักเบาลอยน้ำ และขี่ข้ามได้

 

        ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม เพราะขนมลามีลักษณะเป็นเส้นใยเสมือนใยที่ถักทอเป็นผืนผ้าแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม

 

           ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เพราะมีทรงกลมคล้ายกำไลและแหวน

 

           ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย เพราะมีรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย

 

       ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เป็นของเล่นต้อนรับสงกรานต์ เพราะขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมมากในสมัยก่อน

 

1เรียบเรียงโดยสรุปจากเว็บไซต์ “https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/e294f8ad”, สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2564

 

แชร์ 10494 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้