คุณค่าหนังตะลุงไทยภาคใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ คุณค่าหนังตะลุงไทยภาคใต้

คุณค่าหนังตะลุงไทยภาคใต้

ที่มา shutterstock

คุณค่าหนังตะลุงไทยภาคใต้

                     สืบพงศ์  ธรรมชาติ

 

         หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงของชาวไทยภาคใต้ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพชน จากหลักฐานเอกสารและ    การบอกเล่าทำให้รับรู้ว่ามีมาร่วมพันปีแล้ว เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณจังหวัดนครศรี-ธรรมราชในปัจจุบัน  และอาณาจักรนี้มีเขตพื้นที่กว้างใหญ่รวมไปถึงเกาะในประเทศอินโดนีเซียบางส่วน อีกทั้งรวมถึงดินแดนที่เป็นประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์(สิงหปุระ) กัมพูชา ในปัจจุบันการแสดงหนังตะลุงของชาวไทยภาคใต้ คือการเล่นเงาโดยนำเอารูปหนังที่ทำจากหนังวัวมาทาบหรือให้เคลื่อนไหวไกลห่างจากจอหนังสีขาวที่มีไฟส่อง ทำให้เกิดเงางดงามที่หน้าจอเพราะมีการระบายสีต่าง ๆ และมีเงาทอดสั้นยาวทำให้น่าดู ในการแสดงมีดนตรีประกอบเรียกว่าดนตรีเครื่องห้า ต่อมามีการเพิ่มดนตรีแบบสากลเข้าไปบ้างตามสมัยนิยม ในการแสดงจะมีเรื่องหรือวรรณ-กรรมที่แต่งขึ้นซึ่งจะประกอบไปด้วยร้อยกรองบทกลอนหนังตะลุง และร้อยแก้วเป็นบทเจรจาที่เป็นหลัก ๆ ในระหว่างการแสดงจะแทรกบทตลกหรือมุกตลกเพื่อให้ผู้ชมได้รู้สึกตลกขบขันสนุกสนานจากการชมซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการแสดงหนังตะลุง การแสดงหนังตะลุงสมัยก่อนจะแสดงตั้งแต่หัวค่ำจนถึงสว่าง ปัจจุบันจะแสดงประมาณ 3 ชั่วโมง ก็จะจบการแสดงเพราะมีศิลปะการแสดงอื่น ๆ เกิดขึ้นมากมาแทนที่ เช่น ละครวิทยุโทรทัศน์  ภาพยนตร์  วงดนตรี และความบันเทิงจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

    ชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองทุกชาติล้วนแต่มีศิลปะและวัฒนธรรมการเล่นเงา (Shadow Play Or Shadow Puppet) ชาติที่มีหลักฐานว่ามีการเล่นเงา เช่น กรีก อียิปต์ อินเดีย และจีน (เรียกผีหยิ่ง) เป็นต้น ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการเล่นเงานั้นมีดังกล่าวแล้ว คือ กัมพูชาเรียกว่า เสบ็ก  อินโดนีเซียและมาเลเซียเรียกว่าวายังกุลิต และหนังตะลุงไทยภาษาต่างประเทศเรียกว่าวายังเซียม การเล่นเงาหรือการเล่นหนังที่มีในภาคใต้ของประเทศไทยนั้นจากการศึกษาหลักฐานเอกสารและมุขปาฐะได้ข้อสรุปว่าได้รับอิทธิพลศิลปะการแสดงจากอินเดียใต้ที่เรียกว่า โตลปาวากูตู ตัวหนังที่เชิดหรือเล่นเรียกว่า โตลุงกุ ศิลปะการแสดงเล่นเงาจากอินเดียใต้นี้มีการเผยแพร่สู่ประเทศใกล้เคียงในกลุ่มอาเซียนซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ทางศาสนา การเมืองการปกครอง การศึกษา และการค้าขาย เมื่อความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เข้ามาศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็มีการเผยแพร่สู่กัน และมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับผู้คนและวิถีชีวิตของคนในประเทศนั้น ๆ บ้าง หนังตะลุงมีคุณค่าอย่างยิ่งทั้งด้าน ภูมิปัญญา คติธรรม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และศิลปะและวัฒนธรรมหลายด้าน สิ่งที่มีคุณค่าที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ภาษา วรรณกรรม ประติมากรรม และคีตศิลป์          หนังตะลุงจึงเป็นเสมือนสถาบันการศึกษาของคนไทยภาคใต้ที่สืบทอดมาเป็นเวลานานร่วมพันปีแล้ว

        หนังตะลุงเป็นการแสดงอย่างหนึ่งของชาวไทยภาคใต้ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว บ้างก็กล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน บ้างก็ว่ามีศูนย์กลางอำนาจการปกครองที่ปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย การแสดงหนังตะลุงมีความน่าสนใจเพราะพบว่าชาติต่าง ๆ ที่เจริญรุ่งเรืองหรืออารยชาตินั้นต่างมีการแสดงลักษณะเดียวกับการแสดงหนังทางภาคใต้ของประเทศไทย ไม่ว่ากรีก อียิปย์ อินเดีย จีน ฝรั่งเศส กัมพูชา ลาว และไทย ชาติเหล่านี้ต่างใช้หนังสัตว์หรือ เปลือกไม้มาทำหรือแกะเป็นรูปต่าง ๆ เช่น คน สัตว์ ผี และต้นไม้ แล้วจับรูปที่ทำขึ้นให้เคลื่อนไหวไปบนจอผ้าที่มีแสงสว่างส่องทำให้เกิดเงาทอดยาวหรือสั้นตามการจับวางรูปให้ห่างจากจอผ้าสีขาว การใช้รูปที่ทำขึ้นเพื่อการแสดง และเคลื่อนไหวนี้จะทำในเวลากลางคืน เพราะกลางวันจะไม่เกิดเงาทอดยาวหรือสั้นบนจอผ้า การทำอย่างนี้ต่างชาติเรียกชื่อต่าง ๆ กันออกไป เช่น อินเดียเรียก ฉายานาฏยกะ    บางแห่งเรียก โตลปาวากูตู และเรียกรูปที่ทำจากหนังสัตว์ว่า โตลุงกุ  จีนเรียกว่า ผีอิ่งหรือผีเหยิ่ง อินโดนีเซียหรือชวา มลายู (มาเลเซีย) เรียกว่า วายังกูเล็ต และกัมพูชาเรียกว่า สแบก เป็นต้น หนังตะลุงของไทยภาคใต้ ชาวอินโดนีเซีย มาเลเซียเรียกว่า วายังเสียม หรือวายังเซียม หมายถึงการแสดงหนังของคนสยาม ชาวตะวัน-ตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “การเล่นเงา (Shadow Play)” การเรียกเช่นนี้เรียกตามการเอารูปหนังที่ทำไว้ทาบบนจอผ้าขาว หรือการเคลื่อนรูปให้ไปในจอในลีลาและท่าต่าง ๆ ทั้งใกล้และห่างจอทำให้เกิดเงาหลายลักษณะ จึงเรียกว่า การเล่นเงาดังกล่าว ส่วนชาติอื่นๆ บ้างก็เรียกตามวัสดุที่ใช้ทำรูปหนังหรือรูปที่ใช้ในการแสดงซึ่งอาจทำจากเปลือกไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ก็ได้ การเรียกหนังตะลุงของไทยนั้นเป็นเรี่องที่ได้ศึกษากันมายาวนาน หลายท่านให้ความเห็นต่างกันออกไป ดังผู้รู้ด้านนี้หลายท่านกล่าวไว้

          สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้ซึ่งสนใจและศึกษาเกี่ยวกับหนังตะลุงไทยภาคใต้ กล่าวเอาไว้สรุปได้ว่า หนังตะลุงชื่ออย่างนี้เพราะมีการแสดงหนังตะลุง หรือเล่นหนังที่หลักล่ามช้างที่เมืองยะโฮร์ในครั้งที่กองทัพแห่งศรีธรรมราชมหานครยกไปปราบหัวเมืองด้านล่างคาบสมุทรสยามไปตั้งทัพที่เมืองยะโฮร์ ในครั้งนั้นทหารกองทัพสยามได้เห็นการเล่นหนังของชาวชวาที่ยะโฮร์ด้วย จึงได้ประยุกต์หนังชาวชวาเล่นเข้าไปด้วย ในการเล่นหรือแสดงหนังตะลุงดังกล่าวนั้นก็เอาเชือกผูกผ้าขาวสี่มุมแล้วผูกกับหลักตะลุงหรือภาษาไทยภาคใต้เรียกหลักหลุง ด้วยเหตุนี้การเล่นหรือการแสดงลักษณะแบบนี้ว่า หนังตะลุง หรือหนังลุง

         การเล่นหนังหรือแสดงหนังตะลุงนั้น นอกจากขับกลอนดีมีความไพเราะ ดนตรีน่าฟัง และมีมุกตลก เจรจาเก่งแล้ว เนื้อเรื่องที่แสดงจะต้องมีความน่าสนใจ ให้ความรู้ และเป็นเรื่องที่ชวนติดตาม ให้ข้อคิดมีคติสอนใจ ถ้าหากไม่มีองค์ประกอบได้เช่นนี้ก็จะไม่เรียกกันว่า หนังดี หรือหนังเล่นดี ของผู้ชมในภาคใต้ เนื้อเรื่องที่เล่นหรือแสดงนั้นมีการแต่งล่วงหน้า โดยผู้แต่งที่มีความเฉลียวฉลาดในการแต่งเรื่องหรือประพันธ์เรื่อง เพื่อแสดงหรือเล่นหนังตะลุง คุณสมบัติของผู้แต่งบทหรือเรื่องหรือวรรณกรรมหนังตะลุงนั้น นอกจากจะเป็นคนเฉลียวฉลาดและปัญญาดีแล้ว ยังจะต้องเป็นคนใฝ่รู้ มีความเอาใจใส่ในเรื่องต่าง ๆ  ทั้งทางโลกและทางธรรม อีกทั้งจะต้องมีความสามารถในการแต่งได้ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรองควบคู่กันไป สิ่งสำคัญยิ่งคือต้องเป็นคนผูกเรื่องหรือสร้างสรรค์เรื่องราวเป็นที่เรียกกันว่า “นิยายหนังตะลุง” นิยายหนังตะลุงเรื่องหนึ่งนั้น ๆ จะมีความเพียบพร้อมไปด้วยเรื่องราวที่สนุกสนานชวนติดตาม หากเรื่องที่แต่งไม่ดีไม่ว่าเนื้อเรื่องหรือบทกลอน การนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปแสดงหรือเล่นก็จะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการแสดงหรือเล่นหนัง ด้วยเหตุนี้ในการเลือกเรื่องที่นำไปแสดงหรือเล่นนั้น นายหนังจะต้องมีความฉลาดในการเลือกเรื่องหนังตะลุงไปแสดง เนื้อเรื่องแต่ละเรื่องนั้นจะประกอบไปด้วยความเป็นสังคมของบุคลในสังคมสมมุติขึ้นเป็นรูปหนัง และรูปหนังตะลุงก็คือตัวแทนของคนในสังคมนั่นเอง เรื่องราวต่าง ๆ ในหนังตะลุงจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยภาคใต้เพราะการแสดงของหนังตะลุงนำเอาความเป็นคนไทยภาคใต้มานำเสนออย่างใกล้เคียงมากด้วยการใช้ภาษาไทยสำเนียงใต้เป็นหลักในการสื่อสารจะใช้ภาษาสำเนียงไทยกลางเมื่อเป็นรูปหนังตะลุงที่เป็นระดับผู้ปกครอง เนื้อเรื่อง มีทั้งเรื่องการดำรงชีวิต การสร้างปฏิสัมพันธ์ในสังคม และการสรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ ตามที่คนจะคิดได้  สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่แวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญทุกอย่างที่จะต้องไม่มองข้าม ในสังคมนั้น ๆ และจะประกอบไปด้วย ผู้นำสังคม ผู้ตาม และผู้เข้าไปเยือน อีกทั้งเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยยึดโยงสังคมนั้น ๆ เรื่อง ศาสนา ประเพณี ความเชื่อ สถาปัตยกรรม เศรษฐกิจ ภาษา วรรณกรรม และการเมืองการปกครอง และอื่น ๆ จึงมีอยู่อย่างหลากหลายในการแสดงหนังตะลุงแต่ละเรื่อง

 

ที่มา shutterstock

 

แชร์ 3526 ผู้ชม

ดนตรี การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน

องค์ความรู้