อัตคีตลักษณ์ปักษ์ใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ อัตคีตลักษณ์ปักษ์ใต้

อัตคีตลักษณ์ปักษ์ใต้

 

อัตคีตลักษณ์ปักษ์ใต้

 

                                                          สำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

                                                               มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

 

          โนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ที่มีเอกลักษณ์รูปแบบการแสดงทั้งการรำ การร้อง การแสดงเรื่อง        เครื่องแต่งกายและดนตรีประกอบการแสดง ดนตรีโนราจึงเป็นดนตรีที่สะท้อนอัตลักษณ์คนใต้ที่ปรากฏในการแสดงโนราทั้งในรูปแบบบันเทิงและพิธีกรรม ความเชื่อมีความสำคัญกับผู้แสดงโนราที่ทำให้เกิดเสียง จังหวะ ทำนอง ให้สุนทรียะที่ต่างกันตามกระบวนการรำซึ่งนำไปสู่อรรถรสแห่งการแสดงโนรา อันประกอบด้วย ทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง ปี่และแตระ ทำหน้าที่และมีลักษณะโดดเด่นเฉพาะต่างกันดังนี้

        1. ทับ เป็นเครื่องดนตรีหลักสำคัญในการควบคุมเปลี่ยนจังหวะให้สอดคล้องกับผู้รำ มีลักษณะคล้ายกลองยาว  แต่จะมีขนาดเล็กเป็นคู่ เสียงต่างกันเล็กน้อยใช้คนตีเพียงคนเดียว นิยมใช้ไม้ขนุนนำมาขุดและแกะให้ได้รูปทรง นิยมหุ้มด้วยหนังเช่นหนังค่าง ตรึงด้วยเชือกหรือหวาย แต่ปัจจุบันมีการนำแผ่นฟิล์มพลาสติกมาหุ้มทดแทน

 

ภาพทับ

ที่มา : รัญชกร จันจำปา

 

          2. กลอง ทำหน้าที่เสริมเน้นจังหวะและล้อเสียงทับ นิยมทำจากไม้ขนุนหรือไม้เนื้อแข็งเพราะจะทำให้เสียงดี      หุ้มด้วยหนังวัวหนุ่มหรือหนังควายหนุ่มทั้ง 2 หน้า ตอกยึดหนังกลองด้วยหมุดไม้หรือ “ลูกสัก” มีขาตั้ง 4 ขา ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก ใช้เชือกตรึงให้ติดกับกลอง

 

ภาพกลอง

ที่มา : รัญชกร จันจำปา

 

        3. โหม่ง หรือฆ้องคู่ หล่อด้วยโลหะทองเหลือง มีเสียงต่างกันเรียกว่า "เสียงโหม้ง" และ “เสียงทุ้ม” ส่วน ฉิ่ง มี  ลักษณะเป็นรูปฝาชีมีรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก จำนวน 1 คู่ หล่อด้วยโลหะทองเหลือง ใช้ตีคู่กับโหม่ง

 

ภาพโหม่ง

ที่มา : รัญชกร จันจำปา

 

          4. ปี่ เป็นเครื่องเป่าเพียงชิ้นเดียวของวงใช้เดินทำนอง จะใช้ปี่ในหรือปี่นอกก็ได้ นิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น      ไม้ขาวดำ ไม้มะเกลือ ไม้งิ้วดำ ไม้มะริด ไม้หลุมพอ ไม้รักเขา พวดปี่ทำด้วยแผ่นทองแดง ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาล

 

ภาพปี่

ที่มา : รัญชกร จันจำปา

 

      5. แตระ เป็นเครื่องเคาะให้จังหวะ ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง ผ่าให้ได้ขนาดที่ต้องการ มีลักษณะเป็นพวง    ประมาณ 5 - 7 อัน เจาะรูตรงกลางร้อยเป็นพวง ด้านข้างยึดด้วยเชือก ที่แกนกลางใช้โลหะหรือเหล็กแข็ง พร้อมตกแต่งที่จับด้านบนให้ได้ขนาดพอเหมาะกับมือจับ  

 

ภาพแตระ

ที่มา : รัญชกร จันจำปา

 

แชร์ 1406 ผู้ชม

ดนตรี การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน

องค์ความรู้