กลอนชาวบ้าน

หน้าแรก ย้อนกลับ กลอนชาวบ้าน

กลอนชาวบ้าน

         

กลอนชาวบ้าน

           กลอนชาวบ้าน1  เป็นคำคล้องจอง กาพย์ กลอนแปด ที่ชาวบ้านแต่งขึ้นหรือผูกขึ้น มีลักษณะสั้นกะทัดรัด ได้ใจความสมบูรณ์ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีน้อย ส่วนมากมีผู้ผูกขึ้นในใจ แล้วบอกกล่าวให้คนอื่นรับรู้ จดจำบอกเล่าต่อ ๆ กันไป

      คำคล้องจอง กาพย์ กลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด ชาวบ้านนิยมเรียกรวมกันว่า “กลอน” ส่วนที่เป็นโคลงหรือ    ฉันท์ไม่ค่อยมี เพราะชาวภาคใต้สมัยก่อนไม่นิยมคำร้อยกรอง 2 ประเภทนี้ อาจเป็นเพราะแต่งยาก พูดไม่คล่องปาก    ถ้าไม่นับเพลงร้องเรือ กลอนชาวบ้านจึงมี 5 ลักษณะ คือ คำคล้องจอง กาพย์ กลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด ดังกล่าวแล้ว

       กลอนชาวบ้านมีมาก ไม่ค่อยมีผู้ใดรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน เมื่อคนที่จดจำกลอนชาวบ้านไว้ได้ตายจากไป กลอนชาวบ้านก็พลอยตายตามไปด้วย กลอนชาวบ้านไม่ปรากฏชัดว่า ใครเป็นผู้แต่ง แต่งเมื่อใด ที่บอกชื่อผู้แต่งได้มีน้อยมาก กลอนชาวบ้านนอกจากให้สุนทรียะทางอารมณ์แล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านอื่น ๆ อีกมาก พอสรุปได้ดังนี้

1.ประเภทบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น

      ตัวอย่าง

      “ถึงเดือนสิบปีระกาพระโคกหัก
      ทำฤทธิ์ยักษ์ชิงลามือคว้าขวาน
      ตีหัวเณรถึงแตกแหกร้าวราน
      ท่านสมภารอยู่ไม่ได้ภายหอครอง”

            วัดโคกหักอยู่ในตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นายหนูบ้านหนองเส้อ อยู่ตำบลเดียวกันเป็นผู้แต่ง

2.ประเภทประชดประชัน เสียดสี เปรียบเปรย

      ตัวอย่าง

      “ผักดีปลาดีหวาย (ถวาย) ชีวัดนอก
      ขี้ไม่ออกเยี่ยวไม่ออกบอกชีวัดใน”

             วัดปรางหมู่นี้ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มี 2 วัด วัดปรางหมู่ใน มีหลวงพ่อสงเป็นเจ้าอาวาส เป็นหมอยา หมอดูฤกษ์ดูยาม เป็นช่างโลงศพ จรวด ดอกไม้ อ้ายตูม2 มีผู้คนมาหาเกี่ยวกับงานศพ หรือยามเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ วัดปรางหมู่นอก อยู่ทางตะวันออก ห่างกันประมาณ 1 เส้น สมัยนั้นท่านพระครูอินทโมฬีเป็นเจ้าอาวาสมีผู้คนนำภัตตาหารไปถวายไม่ขาด หลวงพ่อสงจึงผูกกลอนขึ้นประชดชาวบ้าน3

3.ประเภทความเชื่อ 

       ตัวอย่าง

       “ห้ามเผาผีวันศุกร์
       ห้ามโกนจุกวันอังคาร
       ห้ามแต่งงานวันพุธ”

              ถ้าทำงานในวันที่ห้ามไว้จะเกิดโทษหรือมีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้

4.ประเภทลายแทงปริศนาคำทาย

         ตัวอย่าง

        “โพรกเพรงแก้วข้า
        มีพระอุ้มลูก
        ข้างหนึ่งอย่าได้ถูก
        ข้างหนึ่งอย่าได้ต้อง
        คดข้าวให้กากิน
        กานั้นจะบอกทอง”

               วัดโพรกเพรง ตั้งอยู่ในตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีพระปฏิมาปูนปั้นมืออุ้มบาตร มีผู้แก้ลายแทงนี้ได้ เจาะตรงข้อศอกของพระปฏิมา ได้ทองคำหนัก 10 บาท เจาะที่กาล้วงหม้อทั้งสองข้าง ได้เพชร 2 เม็ด ผู้แก้ลายแทงได้ซ่อมพระปฏิมาให้มีสภาพเดิม อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดลานแซะในปัจจุบัน เป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียงกัน

5.ประเภทคติเตือนใจ

       ตัวอย่าง

       “เมื่อแมวอยู่หนูเปรียบเงียบสงัด
       เมื่อแมวลัดหลีกไปไกลสถาน
       ฝ่ายพวกหนูกรูกราววิ่งร้าวราน
       เสียงสะท้านหวั่นไหวอยู่ในครัว”

              พระมหาสมนึก ครูสอนโรงเรียนบาลีวัดสุวรรณ แต่งขึ้นเตือนสติให้นักเรียนอยู่ด้วยความเรียบร้อย เมื่อไม่มีครูสอน

6.ประเภทอุปมาอุปไมย เป็นข้อคิด เป็นข้อเตือนใจให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้เช่นกัน

       ตัวอย่าง

       “เยี่ยวเหมือนเสียงปี่
       ขี้เหมือนยอดเทริด4

              แสดงถึงว่าผู้นั้นมีสุขภาพสมบูรณ์

7.ประเภทบอกลักษณะภูมิประเทศ นิสัยใจคอ อาชีพ 

       ตัวอย่าง

       “เมืองลุงขี้ด่า
       สงขลาปากบอน
       เมืองคอนปากหวาน”

              คนเมืองลุง เวลาพูดชอบขึ้นต้นด้วยคำด่าเสียก่อนอย่างติดปาก ชาวสงขลาชอบฟ้อง นินทา ชาวนครพูดจาไพเราะ แต่ไม่จริงใจ ที่เรียกกันว่า “ลิ้นคอน”

8.ประเภทบอกเหตุการณ์ในสมัยนั้น เช่น สมัยหนึ่งพวกหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงความสะใจหรือหรอยใจ หรอยปากเอาไว้ว่า

       ตัวอย่าง

       “คุ้นกับหญิง วิ่งฉัดกร้อ
       ฉ้อคนโม่ โห่ช้างหระ
       เขเรือไฟ ไปกับพระ”

              คือในสมัยก่อนนั้นใครได้คุ้นเคยกับลูกสาวเขาโดยพ่อแม่ไม่หวงถือว่าหรอย พวกที่เพิ่งหัดเตะตะกร้อใหม่ พวกไม่ให้เข้าวง คอยเตะนอกวงเมื่อตะกร้อหลุดออกมาคือนาน ๆ ได้เตะสักครั้งถือว่าหรอย ฉ้อคนโม่ก็หรอย โห่ช้างหระ คือในสมัยก่อนในท้องถิ่นหัวไทร-ระโนด มีช้างชนิดหนึ่งตัวเล็กมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ช้างพระ ช้างหัวแดง ช้างแคระ ช้างท่ง ช้างนกยางเข ช้างหระ มีอยู่ในท้องทุ่งตั้งแต่ระโนด-หัวไทร-ชะอวด-เชียรใหญ่ ช้างพวกนี้มักอาศัยอยู่ในป่าพรุ ออกหากินกลางคืน โดยออกมากินข้าวของชาวนา โขลงหนึ่ง ๆ มีอยู่หลายสิบเชือก ถ้าใครได้โห่ให้ช้างหระเหยียบนาเพื่อนก็ถือว่าหรอย เขเรือไฟ ในสมัยนั้นมีเรือกลไฟวิ่งระหว่างหัวไทร-ปากพนัง อยู่เพียงลำเดียว (เรือยนต์ยังไม่มี) แต่ละเที่ยวคนแน่นแย่งกันขึ้นเพราะเป็นของใหม่ ถ้าใครได้เขเรือไฟก็ถือว่าหรอย ไปกับพระก็ถือว่าหรอยปาก เพราะไม่อด

       กลอนชาวบ้าน เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้ที่ช่วยกันรังสรรค์ สั่งสมกันมานับเป็นเวลายาวนาน ให้ความรู้คติเตือนใจ ความเพลิดเพลิน มีคุณค่าสูงสุด แม้คนปัจจุบันจะคิดแต่งขึ้นบ้างไม่ค่อยมีใครยอมรับ สู้ของเก่าไม่ได้ กลอนชาวบ้านที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

 

 

1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “กลอนชาวบ้าน” (หน้า 191-195). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 1. (2542).                                มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
2อ้ายตูม เป็นเครื่องใช้สำหรับจุดระเบิด ทำจากไม่ไผ่ ในอดีตชาวบ้านนิยมใช้จุดในงานศพคืนสุดท้าย เพราะเชื่อว่าจะทำให้                            วิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์
3เพื่อแสดงว่ายามเดือดร้อนชาวบ้านจะมาขอความช่วยเหลือหลวงจากหลวงพ่อสง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปรางหมู่ใน แต่พอมี                           ความสุขกลับนำอาหารไปถวายท่านพระครูอินทโมฬี เจ้าอาวาสวัดปรางหมู่นอก
4เทริด คือ เครื่องประดับศีรษะรูปมงกุฎทรงเตี้ย มีกรอบหน้า ใช้ในการแสดงมโนราห์

แชร์ 3708 ผู้ชม

ภาษาและวรรณกรรม

องค์ความรู้